นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงอาชีพปศุสัตว์ทางเลือก ที่ช่วยสร้างรายได้ดีให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี คือ “การเลี้ยงแพะ” โดยเกษตรกรในจังหวัดนิยมเลี้ยงแพะเพื่อบริโภค และจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันนิยมเลี้ยงสายพันธุ์บอร์ (Boer) ซึ่งเป็นพันธุ์เนื้อ เป็นที่ต้องการของตลาด ลูกค้ามักติดต่อขอซื้อถึงฟาร์ม ซึ่งจากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ พบว่า ปี 2561 มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะจังหวัดกาญจนบุรี 1,054 ครัวเรือน จำนวน 45,549 ตัว แยกเป็นแพะเนื้อเพศผู้ 10,245 ตัว เพศเมีย 34,953 ตัว รวมเกษตรกร 1,040 ครัวเรือน และแพะนมเพศผู้ 136 ตัว เพศเมีย 215 ตัว รวมเกษตรกร 14 ครัวเรือน
จากการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) พบว่า เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,119 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 1,950 บาท ค่าแรงงาน 540 บาท และส่วนที่เหลือ 629 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอาหาร ยาป้องกันโรค และค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ โดยแม่แพะ 1 ตัว ให้ผลผลิตลูกแพะประมาณ 2 ตัว/คอก ทั้งนี้ แพะเพศเมียเมื่อมีอายุประมาณ 8 เดือน จะเริ่มผสมพันธุ์ได้ไปจนถึงอายุประมาณ 7 ปี โดยแพะจะมีอายุขัยเฉลี่ย 15 ปี สำหรับราคาขาย เกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้อ (อายุเฉลี่ย 7 เดือน น้ำหนักประมาณ 25 – 30 กก.) ในราคา 3,825 บาท/ตัว (127 บาท/นน.ตัว 1กก.) คิดเป็นรายได้สุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 706 บาท/ตัว ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการรับซื้อจากภาคใต้และความต้องการของประเทศมาเลเซียจำนวนมาก
ด้าน นางจินตนา ปัญจะ ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวเสริมว่า จากการสัมภาษณ์พูดคุยกับ นายเกษม เปรมปรีด์ หนึ่งในเกษตรกร ต.รางหวาย อ.พนมทวน ซึ่งเป็นอำเภอที่นิยมเลี้ยงแพะ รองจากอำเภอเมืองและไทรโยค ได้บอกถึงผลสำเร็จว่า ตนเองปรับเปลี่ยนจากการทำนา และผันตัวทำเป็นอาชีพหลักในการเลี้ยงแพะขุน ซึ่งหลังจากลูกแพะหย่านมเมื่ออายุ 3 เดือน นำมาเลี้ยงต่อจนอายุประมาณ 7 เดือน จึงจำหน่ายเป็นแพะเนื้อให้กับผู้รับซื้อ และเป็นพ่อค้าส่งออกแพะทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังสามารถมีรายได้จากการจำหน่ายมูลแพะเพื่อใช้เป็นปุ๋ยในแปลงพืชได้อีกด้วย
ทั้งนี้ การเลี้ยงจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก เน้นให้แพะอยู่บริเวณที่จัดไว้ พร้อมทั้งหาอาหารในท้องถิ่น ได้แก่ ใบกระถินสด หรือการปลูกหญ้าแพงโกล่าในพื้นที่ของเกษตรกรเองเพื่อใช้เป็นอาหารแพะประจำวัน โดยแพะเป็นสัตว์ที่กินอาหารไม่มาก ต้องการวันละ 1-2 กิโลกรัม/วันเท่านั้นจึงไม่สิ้นเปลือง สำหรับราคาที่ขายจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับอายุ น้ำหนัก และความสวยงาม นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์บริการฉีดวัคซีนป้องกันพยาธิและโรคปากเท้าเปื่อยทุก 6 เดือนเป็นประจำ
สำหรับเกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงแพะสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ นายเกษม เปรมปรีด์ อยู่บ้านเลขที่ 170/1 หมู่ที่ 18 บ้านนาทราย ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี โทร 089 549 2045 ซึ่งยินดีให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรทุกท่าน