ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

วิเคราะห์!! เศรษฐกิจไทยถูกตัดสิทธิ GSP ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการต้องเผชิญอะไรบ้าง


กับกระแสข่าวคราวที่ไทยถูกตัดสิทธิ Generalized System of Preferences หรือ GSP ซึ่งก็คือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาซึ่งไทยได้รับสิทธินี้มาโดยตลอด ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยจำเป็นที่จะต้องรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาวิเคราะห์และคาดการณ์สหรัฐฯ ลดทอนสิทธิ GSP ที่ให้แก่สินค้าไทยบางรายการในครั้งนี้ โดยมองว่าจะส่งผลต่อการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้าในรายการที่ถูกตัดสิทธิมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.1 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ขณะที่ความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเด็นการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยหลักที่เหนี่ยวรั้งการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2563 อ่อนไหวต่อเนื่องจากปีนี้

อย่างไรก็ดี การตัดสิทธิ GSP ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องคงต้องเผชิญอัตราภาษีที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ในอัตรา MFN แม้ว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจไทยในภาพรวมค่อนข้างจำกัด เนื่องด้วยสินค้าส่วนใหญ่เผชิญอัตราภาษีไม่สูงและสินค้าไทยค่อนข้างแข็งแกร่งในตลาดสหรัฐฯ แต่น่าจะมีส่วนทำให้ไทยเผชิญความท้าทายในการทำตลาดมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าประเภทหลอดไส้ (ที่ไม่ใช้ไฟฟ้า) แว่นตา ตัวจุดระเบิดไฟฟ้า อาหารแปรรูปบางประเภทและอ่างสุขภัณฑ์เซรามิกซ์ ขณะที่ ในบางสินค้าที่มีความเสี่ยงสูญเสียตลาดสหรัฐฯ เป็นการถาวร เนื่องจากผลทางภาษีที่เปลี่ยนไปอย่างมากและความสามารถในการทำตลาดของไทยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อาทิ เครื่องประดับบางประเภท ตะกั่วและเคมีภัณฑ์ ผู้ประกอบการคงต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมากก่อนจะถึงวันที่ 25 เมษายน 2563 ดังนั้น โจทย์สำคัญของไทยคงไม่ได้อยู่ที่การรักษาสิทธิ GSP หรือสิทธิพิเศษทางการค้ากับนานาชาติเท่านั้น แต่ควรพุ่งเป้าไปที่การยกระดับสินค้าไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก

ในขณะที่ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประเมินการตัดสิทธิ GSP จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีการพึ่งพาสิทธิ GSP สูง แต่ผลต่อการส่งออกรวมมีจำกัด โดยมีผลประมาณ 0.01% ของการส่งออกทั้งหมด จากสาเหตุหลัก ดังนี้

1.สินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่โดนถอดถอนสิทธิ GSP คิดเป็นส่วนน้อยของการส่งออกรวม (0.5% ของการส่งออกรวม)

โดยจากข้อมูลของ USTR พบว่าในปี 2018 สินค้าส่งออกของไทยที่มีการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และที่เพิ่งโดนตัดสิทธิ GSP มีมูลค่าอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของการส่งออกรวมของไทย

นอกจากนี้ ยังพบว่าแต่ละประเภทสินค้าที่โดนตัดสิทธิมีการพึ่งพา GSP เพื่อการส่งออกไปสหรัฐฯ ในระดับที่ไม่สูงเช่นเดียวกัน โดยวิเคราะห์จากสัดส่วนการใช้สิทธิ GSP ต่อมูลค่าการส่งออกรวมของหมวดสินค้านั้น ๆ ที่ส่งไปสหรัฐฯ พบว่ากลุ่มสินค้าส่วนใหญ่มีสัดส่วนไม่ถึง 10% สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าของไทยโดยมากไม่ได้มีการพึ่งพาการใช้สิทธิ GSP ในระดับที่สูง โดยมีเพียงกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ (Chemical) และวัสดุก่อสร้าง (Building material & Steel) เท่านั้นที่มีการพึ่งพา GSP มากกว่ากลุ่มสินค้าอื่น อย่างไรก็ดี สัดส่วนการพึ่งพา GSP ของทั้งสองกลุ่มสินค้าก็ยังไม่สูงนักโดยมีค่ามากสุดเพียง 16.0% เท่านั้น

2.สินค้าที่โดนตัดสิทธิ GSP จะมีภาระต้นทุนมากขึ้นเพียง 3.9% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อยอดขายไม่มาก

โดยการตัดสิทธิ GSP จะทำให้สินค้าส่งออกที่โดนตัดสิทธิถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมในช่วง 0% ถึง 21% แล้วแต่ประเภทสินค้า ซึ่งมีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราภาษี (weighted effective tax rate) ที่จะถูกจัดเก็บเพิ่มเติมอยู่ที่ 3.9% หรือคิดเป็นมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายประมาณ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยแพงขึ้นโดยเฉลี่ย 3.9% (มีสมมติฐานให้ภาคธุรกิจส่งผ่านภาษีที่ต้องจ่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงผ่านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น) ประกอบกับค่าความยืดหยุ่นด้านราคาของสินค้าส่งออกไทย (price elasticity) ที่อยู่ในช่วง 0.3% – 0.6%[1] ทำให้ได้ข้อสรุปว่ายอดขายสินค้าส่งออกไทยที่โดนตัดสิทธิ GSP มีแนวโน้มลดลงประมาณ 0.006% – 0.012% ต่อการส่งออกรวมทั้งหมด

ทั้งนี้ผลกระทบต่อสินค้าแต่ละประเภทจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยความยืดหยุ่นต่อราคา โดยหากสินค้าที่โดนตัดสิทธิเป็นสินค้าที่ถูกทดแทนได้ง่ายหรืออาจไม่ค่อยเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ (มีความยืดหยุ่นต่อราคาสูง: high price elasticity) ผลกระทบจะมีค่อนข้างมาก ผู้ส่งออกจึงอาจต้องยอมลดราคาสินค้าก่อนรวมภาษีนำเข้าของทางสหรัฐฯ เพื่อให้ราคาขายที่รวมภาษีแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซี่งจะทำให้กำไรต่อหน่วยลดลง ในทางกลับกัน หากสินค้าที่โดนตัดสิทธิเป็นสินค้าที่ถูกทดแทนได้ยากหรือเป็นที่นิยมในตลาดสหรัฐฯ (มีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ: low price elasticity) ผลกระทบก็อาจมีจำกัด

อย่างไรก็ดี แม้ผลกระทบในภาพรวมอาจไม่สูงนัก แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการแข็งค่าของค่าเงินบาท จะเป็นปัจจัยกดดันต่อธุรกิจส่งออกที่พึ่งพาสิทธิ GSP โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่จะเน้นการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับช่วงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปัจจุบัน รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยกดดันภาคธุรกิจขนาดเล็กให้ไม่สามารถปรับตัวได้มากหากต้องรับภาระภาษีเพิ่มเติม (ในรูปแบบของราคาขายที่ต้องลดลงเพื่อชดเชยภาษีที่เพิ่มขึ้น) เนื่องจากไม่มีสภาพคล่องมากพอที่จะสามารถลดกำไรลงเพื่อรักษาระดับราคาเดิมไว้ จึงอาจทำให้ต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าและสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในที่สุด

ทางด้าน คุณปรีชา ตรีสุวรรณ President Thailand Tanzania Business Center และประธานสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทย (THAI EXPORTER AND MANUFACTURER ASSOCIATION) หรือ TEMA กล่าวว่า SMEs ไทยจะได้รับผลกระทบยังไม่มากในระยะต้น ๆ เพราะ SMEs ส่วนใหญ่ ส่งสินค้าไป สหรัฐฯยังไม่มากนัก นอกจากรายใหญ่ แต่อาจจะมีผลมาก กับขนาด กลาง หรือ M ถึงขนาดใหญ่ หรือขนาด L นั่นเอง จะมีผลถึง ขนาด S ก็ตรงเป็นการผลิตชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบให้กับราย ขนาด L แต่ที่สีมากก็ได้แก่ SMEs ที่ส่งสินค้าไปจำหน่ายโดยตรง นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม TEMA ก็ได้มีการเตรียมการด้วยการเปิดเจรจากับ FTA และ EU บางประเทศพร้อมทั้งช่วยเหลือการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยได้มีโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดที่นิยมไทย อาทิเช่น EEU CIS หรือ Eastern Europe ที่มีความสนใจในสินค้าไทยอย่างมาก และยังสามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกันด้วย นอกจากตลาด ใน EEU , EU , CIS , Eastern Europe แล้ว ยังมีตลาดที่น่าสนใจอีก ได้แก่ Africa และ South America เป็นต้น

“ทุกภูมิภาคมีข้อได้เปรียบมากมาย ขึ้นอยู่กับว่า ทราบหรือไม่ เข้าใจหรือไม่ว่า เราจะใช้ได้อย่างไร มันขึ้นอยู่กับ “กึ๋น” ว่าจะนำมาใช้ได้อย่างไร ครับ SMEs ของไทยเป็นรากฐานให้กับการผลิต การค้า การส่งออก หากรากฐานไม่ดี ไม่มีทางที่จะมั่นคงได้แน่นอน หากเราสร้างรากฐานให้ดีแล้ว มั่นใจได้ว่าการค้าไปโลด ครับ เพราะเราจะมีรากฐานที่ดีมีความมั่นคง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับท่า ๆ นั่นแหละครับ SMEs คือฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ หาก SMEs มีความมั่นคง ประเทศก็จะมั่งคั่งและยั่งยืน ครับ”