โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

แฟรนไชส์ “ฟิตเนส” รับเทรนด์สุขภาพ มาแรงในปี 63 อีกหนึ่งธุรกิจนี่น่าจับตา

กระแสการรักสุขภาพและออกกำลังกายดูเหมือนจะยังขายได้อยู่ในยุคที่คนต้องการอายุที่ยืนยาวและคุณภาพที่แข็งแรง สิ่งหนึ่งที่ยืนยันสมมตฐานนี้คือ การเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหารเพื่อสุขภาพ และสถานที่ออกกำลังกายในหลายรูปแบบ

ข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ธุรกิจฟิตเนสมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 - 2561 และในปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) มีการขยายตัวของจำนวนการจัดตั้งใหม่อยู่ที่ 20.69% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจชุดกีฬาและอุปกรณ์กีฬาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทำให้รายได้รวมของกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะประสบผลขาดทุนในปี 2558 แต่ยังคงมีจำนวนธุรกิจตั้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งโอกาสจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ธุรกิจมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจนสามารถสร้างผลกำไรได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฟิตเนสยังต้องมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น การปรับปรุงอาคาร และเครื่องออกกำลังกายจึงควรพิจารณาการถึงปัจจัยดังกล่าวควบคู่ไปด้วย

ประมาณกันว่า ตลาดฟิตเนสมีมูลค่าเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 9,000-10,000 ล้านบาท อัตราเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี แต่หากดูสัดส่วนสมาชิกฟิตเนสยังต่ำกว่า 2% ของประชากร ซึ่งจากข้อมูลของ International Health Racquet & Sports Club Association เคยระบุว่า คนไทยเล่นฟิตเนสในสัดส่วนน้อยมาก ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนเอเชียที่เล่นฟิตเนสอยู่ที่ 8% โดยประเทศที่ประชากรเล่นฟิตเนสมากที่สุดในเอเชีย คือ สิงคโปร์มากกว่า 7% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ตามด้วยฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งหากมองแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจนี้นับว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะในประเทศไทย

เว็บไซต์ inc.com ได้จัดอันดับ 7 แฟรนไชส์ที่โตเร็วที่สุดของอเมริกาในปี 2018 พบว่า 5 ใน 7 หรือเกินกว่าครึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการออกกำลังกาย เช่น Orangetheory Fitness เติบโตสูงถึง 751% ทำรายรับสูงถึง 738.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 875 สาขาในสหรัฐอเมริกา และอีก 999 สาขาทั่วโลก โดยที่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์มาจากการเอาจริงเอาจังและใส่ใจพัฒนาสตูดิโอเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกของผู้บริโภคให้มากที่สุด

แบรนด์ที่มาแรงไม่แพ้กันคือ FYZICAL Therapy & Balance Centers ที่ดำเนินธุรกิจศูนย์สุขภาพที่ครบวงจร มีสาขาถึง 335 แห่งใน 41 รัฐทั่วประเทศอเมริกา ขณะที่ iLoveKickboxing ก็กลายเป็นแบรนด์ค่ายมวยแนวใหม่ที่เน้นความไม่น่าเบื่อและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

อีกสองแบรนด์ที่เหลือคือ GYMGUYZ ที่โตถึง 1,670% ด้วยรายรับ 3.2 ล้านเหรียญ กับแนวคิดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณไม่อยากไปยิม เขาก็จะนำยิมมาส่งให้ถึงบ้านพร้อมเทรนเนอร์ส่วนตัว สุดท้ายคือ Club Pilates Franchise ที่โตรวดเดียว 3,728% กับการเปิดสอนคลาสพิลาทิสโดยเฉพาะ

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจแนวฟิตเนสเหล่านี้ในสหรัฐฯ กำลังเป็นสิ่งสะท้อนว่า เทรนด์การออกกำลังกายนั้นยังสามารถขายได้อยู่เรื่อยๆ แม้แต่ในเมืองไทย ก็มีกลุ่มคนที่ชอบเล่นฟิตเนสอยู่ไม่น้อย แต่ดูเหมือนจะยังมียิมให้บริการอยู่ไม่มากเท่าใดนัก นี่จึงอาจจะเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกช่องทางหนึ่งก็ได้ หากกำลังมองหาแฟรนไชส์น่าลงทุนและมีแนวโน้มไปได้สวย ธุรกิจฟิตเนสก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์