ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กำหนดราชกิจจานุเบกษา “แฟรนไชส์” กับ 6 ข้อห้าม “แฟรนไชส์ซอร์” เอาเปรียบ “แฟรนไชส์ซี” ฝ่าฝืนปรับหนัก 10 % ของยอดขาย


ประธานอนุกรรมการพิจารณา พฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และโฆษกคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ประกาศข้อกำหนด 6 พฤติกรรมต้องห้ามของ “แฟรนไชส์ซอร์” ที่เข้าข่ายเอาเปรียบ “แฟรนไชส์ซี” โดยพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. 2562 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2563 เป็นต้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษปรับหนัก 10 % ของยอดขาย

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2562 จากประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ พ.ศ. 2562 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2563 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการจัดระบบการค้าของธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีธรรมาภิบาล และมีหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติทางการค้าให้ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นระบบและมาตรฐานสากล ส่งผลต่อเนื่องให้การพัฒนาระบบการค้าในธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีความเข้มแข็ง และเกิดประสิทธิภาพต่อระบบเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ทาง กขค. ได้กำหนดพฤติกรรมที่เป็นข้อห้าม ซึ่งอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 57 (การมีพฤติกรรมแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม) แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าพ.ศ. 2560 รวม 6 พฤติกรรม ได้แก่

1.ห้ามแฟรนไชซอร์ (เจ้าของแฟรนไชส์) กำหนดเงื่อนไขที่จํากัดสิทธิแฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อแฟรนไชส์) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อสินค้าที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าแฟรนไชส์ หรือต้องซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้จริง

2.ห้ามกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมหลังทำสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น ให้แฟรนไชส์ซีซื้อสินค้านอกเหนือจากที่กำหนดไว้

3.ห้ามแฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้ให้บริการรายอื่น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

4.ห้ามแฟรนไชส์ซีขายลดราคาสินค้าที่เน่าเสียง่าย โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

5. ห้ามกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างแฟรนไชส์ซี โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และห้ามกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ นอกเหนือจากการรักษาคุณภาพและมาตรฐานตามสัญญา

6.แฟรนไชส์ซอร์ต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญให้แก่ แฟรนไชส์ซี ทราบก่อนตัดสินใจทำสัญญา เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ แผนการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า และการต่อ แก้ไข ยกเลิกสัญญา รวมทั้งในกรณีที่แฟรนไชส์ซอร์ จะเปิดสาขาใหม่เอง จะต้องแจ้้ง แฟรนไชส์ซีที่มีสาขาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่สุดทราบ และให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : thejournalistclub.com