โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เปิดใจ “มนตรี มาลีพันธุ์” แห่ง “วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ” ความสำเร็จ 12 ปี กับปณิธาน ส่งศิษย์สู่การเป็น “เจ้าของกิจการ”

หากจะเอ่ยถึงสถาบันการศึกษา “อาชีวะ” ที่มีหัวใจหลักสำคัญ คือ ผลิตคนหรือเยาวชนคุณภาพสู่การเป็นกำลังแรงงานและเป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาประเทศในอนาคต ด้วยหลักสูตรวิชาชีพแบบ 100 % ซึ่งสถาบันการศึกษารวมไปถึงครูอาจารย์ของสถาบันถือว่ามีความสำคัญอย่างมากที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพอนาคตของชาติให้โลดแล่นบนสายอาชีพในอนาคต

วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ เป็นสถาบันการศึกษาอาชีวะที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดการศึกษาหลักสูตรศาสนาอิสลามและภาษาอาหรับ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 จัดการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประเภทวิชา พาณิชยกรรม สาขาวิชาพาณิชยการ และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประเภทวิชา บริหารธุรกิจ สาขาวิชาการบัญชี คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการตลาด ปัจจุบันมีนักศึกษารวม 724 คน

ทีมงาน ชี้ช่องรวย ได้มีโอกาสพูดคุยถึงปณิธานและความสำเร็จตลอดระยะเวลา 12 ปี กับ คุณมนตรี มาลีพันธุ์ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาศาสนบริหารธุรกิจ เกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชนสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ ด้วยหลักสูตรที่ได้มาตรฐานตามหลักของกระทรวงศึกษาธิการ แม้จะเป็นวิทยาลัยอาชีวะขนาดเล็ก แต่ศักยภาพด้านการเรียนการสอน ระบบการบริหารนั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ความสำเร็จที่ผ่านมา และการก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 12

ต้องบอกว่าผู้ร่วมก่อตั้งเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์งานอาชีวะ ซึ่งก็คือ อาจารย์ บุญเกื้อ เฉลยโภชน์ โดยมาช่วยดำเนินการขอใบอนุญาตก่อตั้งสถาบันอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกกระบวนการขั้นตอน ซึ่งทีมที่ทำงานอาชีวะอย่างแท้จริงมีอยู่ 3 คน ในช่วงแรกของการเปิดการเรียนการสอนก็มีการลองผิดลองถูก พร้อมทั้งเข้าร่วมการประชุมสัมมนาและศึกษาหาข้อมูละเพื่อนำกลับมาพัฒนาสถาบันอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าที่ไหนมีการจัดประชุมสัมมนาเราก็จะเข้าร่วมไม่ขาด เนื่องจากเรามีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นกำลังสำคัญ เป็นอนาคตของชาติที่มีศักยภาพ ให้เป็นอีกหนึ่งในหลายล้านฟันเฟืองให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต จากสิ่งที่เราตั้งใจ ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วซึ่งเกินความคาดหมายทั้งของเราเองและทางผู้ใหญ่ในกระทรวงที่มีส่วนดูแลเราอยู่

“เดิมโรงเรียนเราสังกัดอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ต่อมาตามมาตรา 44 มีมติควบรวมย้ายเอกชนเข้ามาอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันของเราเป็นที่จับตาของผู้ใหญ่หลายกระทรวงเพราะเห็นว่าเราเป็นวิทยาลัยที่มีอัตลักษณ์และมีความเข้มแข็ง เพราะเราเป็นโรงเรียนเดียวที่สอนทั้งศาสนาอิสลาม และภาษาอาหรับ รวมทั้งเป็นสถาบันอาชีวะแห่งแรกและแห่งเดียวที่ขณะนี้มีการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ เป็นโรงเรียนแรกที่สร้างหลักสูตรอาชีวะภาษาอาหรับขึ้นมาใช้เอง พร้อมทั้งยื่นขออนุญาตจากทางกระทรวงและทางกระทรวงก็ใช้หลักสูตรของเรา คือ วิชาภาษาอาหรับ เป็นต้นแบบ อีกทั้งเรายังช่วยร่างหลักสูตรภาษาอาหรับให้กับทางกระทรวงอีกด้วย”

ที่ผ่านมามีการเรียนการสอนหลักสูตรอะไรบ้าง และจะมีเพิ่มหลักสูตรอื่นอีกหรือไม่

เราเป็นสถาบันเดียวที่มีการเรียนการสอนภาคหลักสูตรภาษาอาหรับ ถือเป็นต้นแบบการสอนภาษาอาหรับของอาชีวะ เป็นสถาบันการศึกษาที่ทำหลักสูตรภาษาอาหรับ เดิมเราเปิดสอนทั้งหมด 3 หลักสูตร คือ การบัญชี คอมพิวเตอร์ธุรกิจ และการขาย นอกจากนี้ เรามีแผนที่จะเปิดสอนหลักสูตรธุรกิจฮาลาลในปี 2563 นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการตลาด ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการร่างหลักสูตรเพื่อจะทำการขออนุญาต หากดำเนินการสำเร็จคาดว่าปีหน้าจะเริ่มเป็นการเรียนการสอนได้

“หลักสูตรเกี่ยวกับธุรกิจฮาลาลนี้จะเกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ภาคบริการ การเงิน อาหารและยา การท่องเที่ยวและโรงแรม ทุกสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม ทุกธุรกิจจะถูกบรรจุเข้าไปในหลักสูตรของเราทั้งหมด”

ผลงานที่ผ่านมา เกี่ยวกับการสร้างเยาวชนให้มีบทบาททางสังคมอย่างไร

ตลอดช่วงระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา เราได้รับรางวัลสถานศึกษาพระราชทานเมื่อปีการศึกษา 2560 เป็นโรงเรียนแรกที่ได้รับรางวัลพระราชทานหลังจากการก่อตั้งในเวลาเพียงแค่ 10 ปี ซึ่งในสถานศึกษาบางแห่งใช้ระยะเวลามากถึง 20-30 ปี จึงจะเสนอเข้ารับการประเมินเพื่อเข้ารับรางวัลพระราชทานนี้ เราตั้งเป้าที่จะเข้ารับรางวัลสถานศึกษาพระราชทานให้ภายใน 10 ปี เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเรามีความมุ่งมั่น และความตั้งใจจริงที่จะทำ ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายทั้งฝ่ายบริหาร ครูอาจารย์และนักศึกษา

“ก้าวต่อไปนับจากนี้ คือ การรักษามาตรฐานการเรียนการสอน เพราะจะมีการประเมินในทุกๆ 5 ปี และในปี 2564 จะมีการประเมินอีกครั้งเราจึงต้องรักษามาตรฐานเอาไว้ให้ได้ ต่อเนื่องไปจนถึงกรประเมินระดับอาเซียน ระดับนานาชาติ และระดับมาตรฐานเยอรมันต่อไป”

กิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่กลายเป็นจุดเด่นของสถาบันของเรา

โครงการของเราจริงๆ ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจากวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่เรามีสอนในเรื่องของศาสนาควบคู่กับการเรียนอาชีวะซึ่งทางผู้ปกครองเองก็มีความเชื่อมั่นในสถาบันว่าถ้าเรียนที่นี่แล้วลูกหลานจะเป็นคนดี ไม่ไปทะเลาะหรือทำร้ายร่างกายนักศึกษาสถาบันอื่นแน่นอน เริ่มตั้งแต่ชุดนักศึกษาที่มีความเป็นเอกลักษณ์ เด็กของเราเป็นเด็กเรียบร้อยและขยันตั้งใจเรียนจริงๆ

เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเรียนการสอน ในฐานะที่เป็นสถาบันต้นแบบยุคดิจิทัล มีการพัฒนาในรูปแบบใดบ้าง

เราเป็นสถาบันที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกปี เริ่มต้นตั้งแต่เรามีคอมพิวเตอร์ให้เด็กๆ ได้เรียน 1 เครื่องต่อคน ซึ่งวิทยาลัยอื่นจะเป็น 3 คนต่อ 1 เครื่อง โดยเรายอมลงทุนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบ 1 คนต่อเครื่องเพื่อความเข้าใจของเด็กจะได้มีมากกว่า เรื่องการเช็คชื่อเราเปลี่ยนจากระบบเช็คชื่อแบบปกติมาเป็นการสแกนบัตร ต่อมาเปลี่ยนเป็นสแกนนิ้ว ล่าสุดเราได้นำเอาเทคโนโลยีการสแกนใบหน้าก่อนเข้าเรียน โดยจะจับใบหน้าของนักเรียนแล้วรายงานตรงถึงผู้ปกครองเพื่อให้รับทราบถึงพฤติกรรมของนักเรียนภายหลังออกจากบ้าน โดยเราเพิ่งนำระบบนี้มาใช้ในปีนี้ หลังจากเราใช้ระบบสแกนนิ้วมา 2 – 3 ปี เราจะมีการพัฒนาระบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบการเช็คชื่อ เป็นต้น พฤติกรรมของเด็กนักเรียนบางคนบางทีผู้ปกครองไม่รู้ เราก็ต้องส่งรายงานการเข้าเรียนและดูแลนักเรียนแทนผู้ปกครอง เรียกว่าเราดูแลอย่างดีและทั่วถึงโดยส่งรูปถ่ายอย่างชัดเจนส่งให้ผู้ปกครอง

เรามี องค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย ซึ่งจะคล้ายๆ กับสภานักเรียนในโรงเรียนมัธยมทั่วไป โดยเราจะผ่องถ่ายกิจกรรมให้องค์กรนี้ดำเนินกิจกรรมโครงการของโรงเรียนทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นการฝึกฝนให้นักเรียนคิดเองอย่างเป็นระบบนำไปสู่กระบวนการพัฒนาผ่านรูปแบบของกิจกรรม ดังนั้น นอกจากเราจะสอนเขาในส่วนของวิชาการแล้ว เรายังฝึกให้เขาได้รู้จักการบริหารผ่านกิจกรรมในโอกาสต่างๆ อีกด้วย โดยมีครูอาจารย์คอยเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ เราใช้งบประมาณลงทุนในเรื่องระบบการเรียนการสอนมากที่สุด เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทางด้านการศึกษาและการนำไปใช้ของนักเรียนในอนาคต นอกจากครู อาจารย์ และผู้บริหารแล้ว นักเรียนก็มีส่วนที่ทำให้เราพัฒนามาจนถึงจุดนี้ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

เรามีกิจกรรมพานักเรียนไปทัศนศึกษาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ เป็นสถานศึกษาอาชีวะที่ไม่ใหญ่มาก มีเด็กนักเรียนประมาณ 700 คน ดังนั้นทุกคนจะรู้จักกันหมด ในอนาคตหากมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นก็จะขยายโรงเรียนบนพื้นที่อีกฝั่ง อย่างไรก็ตามขนาดโรงเรียนของเราก็สามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้มากถึง 1,000 คน ดังนั้น ถือว่ายังสามารถรองรับได้อีกมาก โรงเรียนแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 2 ไร่ กับอีก 1 งาน และมีพื้นที่อีกฝั่งซึ่งขณะนี้ทำเป็นที่จอดรถพื้นที่ราว 2 ไร่เศษเช่นกัน และถัดไปอีกจำนวน 3 ไร่ เรียกว่าเราสามาถบริหารจัดการได้

“เรามีการจัดตั้งธนาคารโรงเรียน โดยมีคณะทำงาน 1 ชุดดูแลธนาคารโดยจะรับฝากเงินโดยเป็นของ ธกส. ใช้ระบบการเงินที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อฝึกให้นักเรียนมีนิสัยรักการออม นักเรียนทุกคนที่สมัครเรียนเข้ามาจะต้องเปิดบัญชี 100 บาทเพื่อเป็นทุนรอนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถมาถอนเงินไปใช้จากตรงนี้ได้ ซึ่งเด็กๆ ก็จะมีการนำเงินมาฝากกับธนาคารอย่างต่อเนื่อง”

มีการตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักศึกษาในแต่ปีหรือไม่ อย่างไร

เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าในแต่ละปีจะต้องมีจำนวนเด็กเพิ่มขึ้นเท่าไร แต่สิ่งที่เราตั้งเป้าและต้องทำให้ได้คือ เราจะไม่ลด คือ คุณภาพของเราจะต้องไม่ลด โดยเฉลี่ยนักเรียนต่อห้อง คือ 35 คนต่ออาจารย์ 1 ท่าน เรียกว่าดูแลทั่วถึงแน่นอน เรามีอาจารย์ 40 คน ซึ่งแต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์พร้อมทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะนำพาและให้ความรู้แก่เด็กๆ อย่างแท้จริง ตอนนี้เรามีแผนที่จะสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มเยาวชนมากขึ้น ผ่านกิจกรรมเข้าค่ายโดยมีรถรับส่งและไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

“นอกจากนี้ เรายังให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นด้วย เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์กันระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับโรงเรียนอาชีวะ ล่าสุดเราทำ MOU กับ 20 สถาบันการศึกษาทั้งที่เป็นสถาบันของมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านการศึกษาต่างๆ เพื่อต้องการเพิ่มจำนวนเด็กนักเรียนอาชีวะให้มากขึ้น โดยมีสถาบันอาชีวะร่วมเซ็นร่วมกันจาก ฉะเชิงเทรา นครนายก นนทบุรี เป็นต้น ทั้งความร่วมมือทางวิชาการและด้านอื่นๆ" 

เกี่ยวกับความร่วมมือกับภาครัฐ”

ตอนฉลองครบรอบ 12 ปี ท่าน ดร.ก้านทิพย์ ชาติวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการอาชีวศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับเราด้วย โดยหน่วยงานภาครัฐมองเราในแง่บวกมาก อย่างที่บอกว่าสถาบันเราเป็นสถาบันต้นแบบของการเรียนการสอนภาษาอาหรับ ด้านจริยธรรมคุณธรรมเราก็มีความโดดเด่น และเราเองก็ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐด้วยดีเสมอมา

“เราพยายามแนะแนวทางการศึกษาอาชีวะทุกปี ตอนนี้มีจำนวนเด็กที่เรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาภาคเอกชน โดยมีทั้งของภาครัฐบ้าง เกี่ยวกับนโยบายภาครัฐนั้นเราให้ความร่วมมือทุกอย่าง คุณครูอาจารย์ที่นี่จะต้องลงพื้นที่เยี่ยมเยียนบ้านนักเรียนทุกหลัง มีทุนการศึกษาและมอบโอกาสให้เด็กๆ เหล่านี้ได้ก้าวสู่ทางที่เขาวาดฝัน เราเป็นเหมือนอีกหนึ่งแรงผลักดันและส่งให้เด็กเดินทางไปถึงฝั่งที่เขาฝันและวาดหวังไว้”

มีการรองรับแผน EEC หรือไม่ อย่างไร

ตอนนี้เราพุ่งเป้าไปที่เยาวชนไทยก่อน อย่างไรก็ตาม เราก็มีแผนที่จะจะเปิดรับนักเรียนต่างชาติแต่คาดว่าจะเป็นช่วงทศวรรษที่ 20 เหตุเผลเพราะเด็กไทยเรายังติดในเรื่องของภาษา การจะเปิดโรงเรียนเพื่อรองรับ EEC นั้นจะต้องเตรียมพื้นฐานด้านภาษา และจำนวนครูผู้สอนที่จะมารองรับมากพอสมควร

“สถาบันของเราไม่มีแบ่งแยกศาสนา นักศึกษาที่มาเรียนเป็นคนพุทธอยู่ประมาณ 30 คน คิดเป็น 5 % ของเด็กนักเรียนทั้งหมด ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ก็มาเรียนภาษาอาหรับกับเรา โดยเราก็ส่งเสริมในเรื่องกิจกรรมโดยการส่งเด็กเข้ากิจกรรมต่างๆ เช่นกัน รวมทั้งจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธ เช่น สวดมนต์หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธในวันสำคัญต่างๆ เราไม่ได้ปิดกั้นว่าจะต้องเป็นนักเรียนมุสลิมเท่านั้น เราเปิดรับเด็กทุกศาสนา เพราะเรามุ่งเน้นที่จะพัฒนาเยาวชนให้เป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคตให้ได้”

เกี่ยวกับค่าหน่วยกิต หรือทุนการศึกษา

เรื่องทุนการศึกษาเรามีให้เด็กทุกปี โดยดูจากผลการเรียนเด็กแรกเข้า เช่น ปวส.เราจะให้ทุนการศึกษากับนักเรียนที่มีคะแนนสูงสุดของแต่ละสาขา โดยกำหนดโควตาไว้ 3 ทุน โดยให้เรียนฟรี 100 % จนจบการศึกษา

นอกจากนี้ เรื่องค่าการศึกษาเราไม่ได้คิดเป็นหน่วยกิตแต่เราคิดเป็นแบบเหมาจ่ายรายเทอม ระดับ ปวช.ค่าเล่าเรียนจะเริ่มต้นที่เทอมละ 9,000 กว่าบาท และ ปวส. ค่าเล่าเรียนจะเริ่มต้นที่เทอมละ 13,000 บาท

เราเป็นสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจขนาดเล็กอยู่กันแบบครอบครัวพร้อมทั้งพยายามพัฒนาประสิทธิภาพของเรา เราใช้พื้นที่ของสถาบันอย่างเต็มประสิทธิภาพ และพัฒนาการบริหารจัดการและเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ค่าศึกษาก็ไม่ได้สูงกว่าที่คิด เรายินดีต้อนรับเด็กทุกคนที่ต้องการหาประสบการณ์ หรือเข้ามาฝึกฝนตนเองทางด้านวิชาชีพ

“ส่วนตัวของผม ผมมีความตั้งใจที่จะส่งเด็กทุกคนให้เป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เราจะผลิตคนเพื่อให้เป็นเจ้าของกิจการ จุดประกายแนวคิดสู่การเป็นเจ้าของกิจการ และสามารถดูแลบริหารจัดการกิจการของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใครที่ชื่นชอบและพร้อมที่จะพัฒนาตนเอง เราพร้อมเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ ซึ่งขณะนี้เด็กของเราได้เป็นประธานเยาวชนของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ตามปรัชญาของเรา คือ ให้โอกาสกับทุกคน”