ปัจจุบัน พืชสมุนไพรไทย กำลังเป็นที่จับตาและได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างมาก ด้วยสรรพคุณในการช่วยบำบัดและรักษาทำให้ตลาดส่งออกสมุนไพรไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย แต่ข้อจำกัดของเราคือ พืชสมุนไพรบางชนิดมีปลูกกันน้อยมาก จนไม่เพียงพอที่จะป้อนตลาดทั้งภาคการผลิตและส่งออก ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาแนะนำ 5 พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาในการช่วยลดความโลหิตสูง ซึ่งปัจจุบันพบกันมากในกลุ่มคนไทย เผื่อจะกลายเป็นหนทางในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เข้ากระเป๋าของเรากันนะคะ
จากสถิติคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป มักจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 22 ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และผลพวงของเจ้าโรคนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต และ โรคหัวใจอีกด้วย ดังนั้น สมุนไพรไทย ที่มีผลช่วยลดอาการความดันโลหิตสูง และกำลังเป็นที่จับตาของตลาด มีดังนี้
1.กระเจี๊ยบแดง
จากการทดลองในสัตว์และมนุษย์ พบว่า กระเจี๊ยบแดงสามารถลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ขับยูริก รวมทั้งลดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดในไตได้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการดื่มชากระเจี๊ยบวันละ 2-3 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิตตัวล่างลงได้ตั้งแต่ร้อยละ 7.2 ถึง 13 เลยทีเดียว ดังนั้น ชากระเจี๊ยบจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
2.ขึ้นฉ่าย
ชาวเอเชีย นิยมใช้ขึ้นฉ่ายเป็นยาลดความดันโลหิตมากว่า 2,000 ปีมาแล้ว ทั้งชาวจีน และเวียดนามแนะนำให้กินขึ้นฉ่ายวันละ 4 ต้น เพื่อรักษาความดันให้เป็นปกติ แพทย์อายุรเวทในอินเดียมักจะสั่งจ่ายเมล็ดขึ้นฉ่ายเพื่อขับปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่บวมน้ำ ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ขึ้นฉ่ายมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม คุมกำเนิด ลดจำนวนอสุจิ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ยับยั้งเนื้องอก ต้านการอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ขับระดู เป็นต้น
3.บัวบก
“บัวบก” เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากบัวบกทำให้การไหลเวียนของเลือดทั้งในหลอดเลือดดำและหลอดเลือดฝอยมีการไหลเวียนดีขึ้น มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี จึงสามารถลดความดันโลหิตได้ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ต่อระบบประสาท ทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น มีฤทธิ์คลายความเครียด ซึ่งฤทธิ์คลายความเครียดนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงด้วย
4.คาวตอง หรือพลูคาว
“คาวตอง หรือพลูคาว” หมอยาทั่วไป ทั้งอีสาน ภาคเหนือ หรือไทยใหญ่มีความเชื่อว่าการกินคาวตองสดๆ กับน้ำพริก ลู่ ลาบ หรือใช้รากต้มกับปลาไหล รากตำเป็นน้ำพริกกินจะเป็นยารักษาโรคได้ เช่น ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร แผลในกระเพาะอาหาร พลูคาว นับเป็นผักสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยและจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง ซึ่งจากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ต่างพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพลูคาวเช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์ของหมอยาพื้นบ้าน
5.มะรุม
“มะรุม” นับเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด โดยจากประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านทั้งในไทยและต่างประเทศ และการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า ส่วนของใบและรากของมะรุม มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตได้ รวมทั้งพบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น niazinin A, niazinin B, niazimicin และ niaziminin A and B
จุดเด่นของเจ้า 5 สมุนไพรนี้ คือ ปลูกง่าย และเติบโตเร็ว ดังนั้น ระยะเวลาในการสร้างรายได้เข้ากระเป๋าก็แสนสั้น ปลูกเพียงเดี๋ยวเดียวก็สร้างกำไรให้เราได้แล้วค่ะ และนอกจากจะขายสดแล้ว สำหรับใครที่มีแผนจะส่งออก ลองหันมาแปรรูปสินค้าเกษตรแล้วลองหาตลาดดูนะคะ เผื่อจะมีช่องทางขยายตลาดกลายเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมได้ ซึ่งปัจจุบันก็มีหน่วยงานภาครัฐและอีกหลายองค์กรที่คอยให้ความช่วยเหลือ และพร้อมยื่นมือให้ความรู้กับคุณได้ ลองดูนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน