ใกล้วันหยุดยาวช่วงปีใหม่เข้ามาทุกที นอกจากจะเป็นช่วงเวลาในการเดินทาง ยังเป็นวันที่มีการรวมญาติครั้งใหญ่แห่งปี และในปีนี้ รัฐบาลประกาศให้มีวันหยุดเพิ่มเป็น 4 วัน แต่หลายท่านคงใช้วันลาพักร้อนที่เหลือเฮือกสุดท้าย เพื่อใช้ในการเดินทาง สิ่งหนึ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษนั้นคือเรื่องของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ที่มักจะถูกลืม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าจึงมาร่วมแนะนำว่า เรื่องไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดที่ควรนึกถึงก่อนสิ่งอื่นใด การวางแผนปิดบ้านก่อนเดินทาง
- ระบบไฟฟ้า – เช็คระบบไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น สายไฟเก่า ชำรุด ฉนวนฉีกขาด แม้จะพันเทปพันสายไฟเอาไว้ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรขณะที่เราไม่อยู่บ้าน ควรตรวจเช็คสภาพตู้ไฟฟ้าว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เช่น ไม่มีจุดชำรุด แตกหัก ไม่มีสิ่งสกปรก บางบ้านอาจยังใช้คัทเอ้าท์รุ่นเก่า ยิ่งควรตรวจเช็คสภาพให้ดี เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้น และไม่มีใครอยู่บ้านอาจเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้
- ปลั๊กที่ใช้พ่วงอุปกรณ์ – ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้กับปลั๊กรางหรือปลั๊กพ่วง ยิ่งหากเป็นแบบที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยแล้วยิ่งต้องระวังให้มาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดไฟกระชากหรือไฟช็อตเมื่อไร ถ้าจำเป็นต้องต่อพ่วงอุปกรณ์ไฟฟ้า ควรต้องซื้อ “ปลั๊กกันไฟกระชาก” มาใช้จะดีกว่า โดยควรเลือกแบบที่มีสวิตช์ เปิด-ปิด ตัวเดียวจะป้องกันได้ดีกว่าแบบมีสวิตช์จำนวนมาก เต้าเสียบต้องแน่น ควรเลือกแบบที่กันไฟกระชาก 10 เท่า วัสดุต้องผลิตจากวัสดุไม่ลามไฟ (ABS) จึงจะวางใจได้
- ตู้เย็น – เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เก็บอาหารสดเอาไว้ ควรพยายามจัดการให้หมดก่อนจะไม่อยู่บ้าน เพราะเมื่อเกิดไฟดับระหว่างไม่อยู่บ้าน กลับมาอาจต้องล้างตู้เย็นกันยกใหญ่เป็นแน่ อีกข้อหนึ่งเพื่อเป็นการปกป้องตู้เย็นไม่ให้เสียหายจากไฟกระชาก คือการใช้ปลั๊กป้องกันไฟกระชากมาต่อตรงกับปลั๊กไฟของบ้าน และให้ตู้เย็นต่อพ่วงจากปลั๊กกันไฟกระชากอีกที จะช่วยยืดอายุการใช้งานของตู้เย็นได้
- ระบบรักษาความปลอดภัย – ตรวจสอบสัญญาณกันขโมย รวมไปถึงระบบกล้อง IP Camera (กล้องที่สามารถดูผ่านเครือข่ายไร้สายได้) ระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ควรให้มั่นใจว่ายังสามารถใช้งานได้อยู่ และสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของเราได้ตลอดเวลา
- จัดการอุปกรณ์ไฟฟ้า – ทีวี อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่จำเป็น ก็ควรถอดปลั๊กออกทุกครั้งที่ไม่ใช้งาน เพราะหากเราไม่ถอดออก เครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะยังมีไฟเลี้ยงอ่อนๆ อยู่ ถึงแม้ว่าอาจหมายถึงค่าไฟฟ้าเพียงจำนวนน้อยนิดก็ตาม แต่หากเป็นเหมือนกันทุกบ้าน ประเทศในภาพรวมก็จะสูญเสียพลังงานมากมาย สู้เราช่วยชาติ ให้เก็บไว้ใช้ยามจำเป็นดีกว่า
- สร้างกลุ่มโซเชี่ยลเพื่อนบ้าน – เรามาสู่ยุคดิจิทัลกันแล้ว นอกจากการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เราเองยังสามารถฝากบ้านไว้กับเพื่อนบ้านได้ โดยสามารถติดต่อผ่านทางสื่อโซเชี่ยลต่างๆ อาทิ ทางไลน์ หรือ ทางเฟสบุค
- ฝากบ้านไว้กับเทคโนโลยี – การใช้เทคโนโลยีโฮมออโตเมชั่น เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับบ้านขณะที่เราไม่อยู่ เช่น การตั้งเวลาหรือสั่งเปิด/ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นสัญญาณว่ามีคนอยู่บ้าน เช่น การตั้งเวลาเปิด/ปิดไฟ ให้สว่างในบางจุด เป็นกลลวงให้โจรคิดว่าเราอยู่บ้าน ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ เช่น อัลติ อีซี่อินสตอลล์ (ULTI Ezinstall) ช่วยให้สามารถตั้งเวลาและควบคุม อุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อให้บ้านไม่เงียบเหงา ติดตั้งง่ายสมชื่อ หรือถ้าบ้านที่มีบริเวณเยอะ ต้องการรดน้ำต้นไม้ หรือต้องการการควบคุมที่หลากหลายกว่า โดยใช้ไวเซอร์ โฮมเมเนจเม้นท์ (Wiser Home Management) ซึ่งสามารถปรับใช้คู่กับอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ เช่น การรดน้ำสนามหญ้า รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารปลาในบ่อ สามารถเลือกควบคุม หรือ ตั้งให้เป็นระบบอัตโนมัติก็ได้ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้ นับเป็นความง่ายที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
7 ข้อดังกล่าว สามารถเลือกปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม และความจำเป็นของบ้านแต่ละหลัง เพียงเท่านี้คุณก็ออกจากบ้านได้อย่างสบายใจ