ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ทิศทางเกษตรไทยปี 63 ยังต้องเหนื่อยต่อ จากภาวะแล้งเร็วและยาวนาน บวกกับทิศทางเศรษฐกิจโลก ยังเป็นตัวรั้ง


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ภาคการเกษตรไทย ปี 2563 ยังมีความเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งคาดว่าน่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวและอ้อยในช่วงต้นฤดูการผลิต โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ 2.0% (YoY) โดยเป็นผลฉุดรั้งจากการลดลงของปริมาณผลผลิตข้าวเป็นสำคัญ

ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรภาพรวมมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยกดดันจากความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้คาดการณ์การส่งออกของไทยโดยรวมในปี 2563 จะยังคงหดตัวที่ 1.0% (YoY) กดดันให้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรเติบโตในกรอบจำกัดที่ 1.5 – 2.0% (YoY)

เมื่อพิจารณาจากปัจจัยความเสี่ยงด้านผลผลิตและความผันผวนด้านราคา ทำให้รายได้เกษตรกรน่าจะให้ภาพรวมชะลอตัวที่ -0.5 ถึง 0.0% (YoY) อย่างไรก็ดี นโยบายการเกษตรภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาวยังคงบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยในปี 2563 และเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัวต่อการแข่งขันในตลาดโลกที่เข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาปริมาณน้ำในเขื่อน พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้จริงทั่วประเทศ ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 21,197 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ระดับ 31,358 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงกว่า 47.9% (YoY) กล่าวได้ว่า ในปี 2563 ไทยอาจยังเผชิญสภาวะแล้งสะสมต่อเนื่องทำให้มีความจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและเพาะปลูกตลอดฤดูแล้ง โดยคาดว่าพื้นที่ทางการเกษตรในภาคเหนือและภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากที่สุด ซึ่งน่าจะกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณผลผลิตทั้งปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ 2.0% (YoY) โดยเป็นผลฉุดรั้งจากการลดลงของปริมาณผลผลิตข้าวที่มีสัดส่วนผลผลิตในตะกร้าสินค้าเกษตรมากที่สุด เทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าภาพรวมปริมาณผลผลิตน่าจะทรงตัวในแดนบวกที่ 0.2% (YoY)

และหากพิจารณาสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเทียบกับสถิติในอดีต พบว่า สถานการณ์มีความใกล้เคียงกับในช่วงปลายปี 2557 โดยปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้การได้จริง ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 21,598 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา จึงทำให้มีความจำเป็นต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมรับมือในการจัดการความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตเพิ่มเติมสำหรับปีการเพาะปลูก 2563

ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรภาพรวมคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยผลักดันด้านปริมาณผลผลิตรวมที่ลดลง พิจารณาจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกรายการ โดยเฉพาะราคาข้าวน่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของภัยแล้งต่อปริมาณผลผลิต และราคาปาล์มน้ำมันที่น่าจะเพิ่มขึ้นจาก ผลของมาตรการรัฐในการกระตุ้นอุปสงค์ผ่านการสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B10 ทั้งนี้ ยังคงมีปัจจัยกดดันจากความต้องการในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกของไทยโดยรวมทุกสินค้าในปี 2563 จะยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ 1.0% (YoY) กดดันให้ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรเติบโตในกรอบจำกัดที่ 1.5 – 2.0% (YoY) ซึ่งปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ที่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรน่าจะเติบโตที่ 1.6 – 2.4% (YoY)

จากปัจจัยความเสี่ยงด้านผลผลิตและปัจจัยกดดันด้านราคาสินค้าเกษตรข้างต้น ทำให้ปี 2563 ยังเป็นปีที่ระดับรายได้เกษตรกรยังมีความเปราะบาง ดังนั้นภาครัฐน่าจะยังคงให้ความสำคัญในการดำเนินโยบายการเกษตรเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการเพาะปลูกและยกระดับรายได้เกษตรกรต่อเนื่องจากปี 2562 โดยมาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการระยะสั้นที่มีกรอบเวลาการดำเนินการจำกัด ซึ่งภาครัฐอาจพิจารณาขยายระยะเวลาบางมาตรการหรือออกมาตรการต่อเนื่องระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้

1.มาตรการช่วยเหลือด้านการเพาะปลูกและรักษาเสถียรภาพราคาสินค้า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนการเพาะปลูกส่วนใหญ่เป็นลักษณะเงินให้เปล่าในช่วงฤดูการผลิตและเก็บเกี่ยวเพื่อช่วยบรรเทาภาระต้นทุนของเกษตรกรในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งมักใช้ควบคู่กับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาผ่านกลไกการกระตุ้นอุปสงค์และการจัดการอุปทานในตลาด เช่น มาตรการกระตุ้นการใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว เป็นต้น

2.มาตรการช่วยเหลือด้านรายได้เกษตรกร เป็นลักษณะการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคารับประกันและราคาอ้างอิงจากราคาตลาดในช่วงเวลาหนึ่ง ในกรณีที่ราคาตลาดตกต่ำหรือมีความผันผวนเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถรักษาระดับรายได้จากการขายสินค้าเกษตรไว้ได้ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมุ่งเน้นที่การรักษาระดับรายได้เกษตรกรมากกว่าการแทรกแซงราคาสินค้าโดยตรง แต่อาจทำให้เกิดการเร่งผลิตในกลุ่มสินค้าเกษตรที่สามารถขยายพื้นที่การเพาะปลูกได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสินค้าล้นตลาดตามมาได้ ถึงแม้มาตรการทั้ง 2 รูปแบบ จะมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนและน่าจะมีผลบิดเบือนตลาดในระดับจำกัด แต่การให้ความสำคัญกับมาตรการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพสินค้าเกษตรระยะยาว

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์สินค้าเกษตรโดยรวมในปี 2563 อาจยังให้ภาพชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้เกษตรกรน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวที่ -0.5 ถึง 0.0% (YoY) จากผลของการหดตัวด้านผลผลิต แต่หากพิจารณาผลจากการที่ภาครัฐมีการดำเนินนโยบายทางการเกษตรต่อเนื่องจากปี 2562 น่าจะช่วยผลักดันให้รายได้เกษตรกรในปี 2563 เป็นบวกเล็กน้อยที่ 0.0 – 0.7% (YoY) กรณีรวมผลของโครงการประกันรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นคงจะต้องมีการติดตามประเมินผลใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีความจำเป็นในการพิจารณามาตรการอื่นควบคู่กันอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ตลาด ในขณะเดียวกันการให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับนโยบายการเกษตรเพื่อยกระดับสินค้าเกษตรไทยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาวจะเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของไทยอย่างแท้จริง