ถ้าเกิดมาจน อย่ามัวแต่บ่นและพาลว่าไม่มีโอกาส เพราะโอกาสนั้นจะถูกหยิบยื่นมาให้เฉพาะแก่บุคคลพิเศษ บุคคลที่ไม่หวาดหวั่นต่อความลำบาก บุคคลที่คิดบวก แล้ววันหนึ่งความสำเร็จที่เฝ้าฝันถึงก็จะมาถึงในไม่ช้า สิ่งที่กล่าวมานี้ ไม่ได้กล่าวอย่างเลื่อนลอยเพราะทั้งหมดเป็นมุมคิดที่ “นายไสว ศรีใจวงศ์” ช่างฝีมือสนามชั้น 3 โครงการชลประทานน่าน บุคคลชลประทานของเราในฉบับนี้ ใช้เป็นหลักยึดเหนี่ยวและพร่ำสอนตนเอง ตั้งแต่ครั้งยังเป็นแค่ “ยาม” เฝ้าประตูโครงการ
1 สมอง 2 มือ และ 2 ขา
ไสว ศรีใจวงศ์ เล่าให้ทีมงานฟังว่าเดิมตนเป็นคนจังหวัดแพร่ ฐานะทางครอบครัวอยู่ในระดับยากจน เติบโตมาก็เห็นแต่ท้องไร่ท้องนา การศึกษายิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แต่อาศัยเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ทำให้สามารถอ่านออก เขียนได้ ก่อนผ่านการเป็นทหารเกณฑ์เมื่อ พ.ศ. 2527 หลังจากนั้นก็มาประกอบอาชีพรับจ้างหาเลี้ยงครอบครัว แต่สำหรับเขาแล้วไม่เคยคิดว่าตนเองเกิดมาติดลบ เพราะชีวิตเขามี 1 สมอง 2 มือ และ 2 ขาให้พาก้าวเดินไปข้างหน้า
ช่วงชีวิตในวัยหนุ่มของไสวนั้นเขาทำงานโดยไม่เคยปริปากบ่นถึงความเหนื่อยยาก และเมื่อมีรายได้ที่พอจะลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว เขาก็ยังให้ความสำคัญกับการศึกษา ในภาคค่ำก็จะไปเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จนศึกษาจบในระดับเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 กระทั่งเส้นทางที่ก้าวมา ในที่สุดได้นำเขาให้มาพบกับงานรับจ้างในรั้วกรมชลประทาน ในตำแหน่งรักษาความปลอดภัย (รปภ.)
“การศึกษาผมไม่สูง แต่ผมใฝ่รู้ผมขยัน งานอะไรก็ตามที่สามารถหล่อเลี้ยงครอบครัว พ่อ แม่ พี่ น้อง ได้และเป็นงานสุจริต ผมรับจ้างทำทั้งหมดและวันหนึ่งหลังจากปลดทหาร ก็มีญาติที่เป็นลูกจ้างกรมชลประทานชักชวนให้ผมมาทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวทำงานกับกรมชลประทาน ในโครงการชลประทานน่าน โดยแรกเริ่มผมเข้ามาเป็น รปภ. แต่งานที่ทำจริงกลับเป็นประเภทงานสนาม เช่น เป็นคนงานก่อสร้างฝาย คลองส่งน้ำ ประปาภูเขาเรียกว่าทำทุกอย่างตามที่ผู้บังคับบัญชาจะสั่ง”
รปภ. คนขยัน
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ไสวเป็นคนรักความก้าวหน้าและสิ่งใดที่ทำให้ครอบครัวอิ่มท้องเขาจะสู้ไม่ถอยในทุก ๆ วันระหว่างที่ประกอบอาชีพ รปภ. ไสวจะไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่าเขาพยายามหยิบยืมตำรับตำราความรู้ด้านชลประทานจากนายช่างชลประทานมาอ่าน ศึกษาให้ความรู้แก่ตนเองเสมอ และเมื่อมีโอกาสจึงได้สอบเข้าบรรจุเป็นลูกจ้างประจำกรมชลประทานในตำแหน่งที่สูงขึ้นในเวลาต่อมา
“ช่วงเวลาว่าง ผมจะหาหนังสือเกี่ยวกับชลประทานมาศึกษา จนวันหนึ่งทางกรมชลประทานมีเปิดสอบเข้าบรรจุ ซึ่งผมก็เข้าร่วมคัดเลือกจนเลื่อนขึ้นมาเป็นตำแหน่งพนักงานรักษาอาคาร และสอบเลื่อนจนเป็นช่างฝีมือสนาม ชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในระดับลูกจ้างประจำ ทำงานภายใต้การดูแลหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษา ดูแลพื้นที่ชลประทานใน 4 อำเภอ จังหวัดน่าน ได้แก่ อำเภอวังผา อำเภอปัว อำเภอสันติสุข และอำเภอบ่อเกลือ”
ความภาคภูมิใจอย่างสูงสุด คือ สนองงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ไสวเล่าอีกว่า การเข้ามาทำงานกับกรมชลประทาน สำหรับตนแล้วถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิตอย่างสูงสุด เหตุเพราะตนได้โอกาสทำงานรับใช้ประชาชนและที่สำคัญยังได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้สนองงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในจังหวัดน่านมากมายยกตัวอย่างล่าสุด คือ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฝายน้ำขว้างพร้อมระบบส่งน้ำ
เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว และพื้นที่การเกษตรของประชาชนที่ตื้นเขินและโครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้ห้วยลู่ เพื่อช่วยเหลือชุมชนชาวมลาบรี ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยกรมชลประทานมีหน้าที่จัดหาน้ำสนับสนุนประชาชนบ้านห้วยลู่และบูรณาการกับหน่วยงานอื่น ๆ พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวมลาบรีและให้สามารถอยู่กับป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน
“เป็นบุญ เป็นวาสนาของผมที่ได้มีโอกาสมาทำงานสนองงานโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ และปลาบปลื้มใจที่เคยได้เฝ้าฯ รับเสด็จถวายรายงานเรื่องน้ำสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งเสด็จมาเยือนจังหวัดน่าน อีกเรื่องที่ผมจำได้ คือคำพูดของอาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวไว้ว่าให้ตั้งใจทำงานโครงการพระราชดำริ มีความตั้งใจที่ว่าต้องช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก ซึ่งผมจำและบอกต่อกับคนรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้”
มาถึง พ.ศ. 2562 ไสวอายุ 59 ปีและใน พ.ศ. 2563 จะเข้าสู่การเกษียณอายุราชการ เขาได้รำลึกถึงการทำงานสมัยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาในตำแหน่งที่เล็กสุด และค่อย ๆ เติบโตจนเป็นนายไสว ศรีใจวงศ์ ช่างฝีมือสนามชั้น 3 ให้ฟังว่า
“สมัยเป็นลูกน้องกับเป็นหัวหน้านั้นมีความรู้สึกแตกต่าง ตอนเราเป็นลูกน้องต้องอดทน ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ต้องทำได้ทุกอย่าง ต้องใฝ่หาความรู้ แต่เมื่อมาเป็นหัวหน้าทุกสิ่งที่กล่าวมาก็ยังคงต้องมี แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือความเป็นธรรม เช่น ลูกน้องอยู่ในระดับเดียวกันก็ต้องทำงานเท่าเทียมกัน และคิดเสมอว่าตอนที่เราไม่มี เรารู้สึกอย่างไร ดังนั้นเมื่อเวลาที่เขาไม่มีเราก็ต้องดูแล มีอะไรก็แบ่งปัน ต้องเอาใจใส่กันถึงจะอยู่กันได้อย่างมีความสุข ซึ่งก็จะส่งผลให้งานออกมามีประสิทธิภาพ”
แม้เส้นทางชีวิตของไสวที่กว่าจะถึงวันแห่งความสำเร็จและภูมิใจของชีวิตต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามมากมายแม้จะเริ่มต้นจากฐานะทางครอบครัวที่ยากจน แต่แล้วด้วยความมุมานะ อุตสาหะใฝ่รู้ และไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต ทำให้กราฟชีวิตนั้นทะยานสูงขึ้น กระทั่งได้เข้ามาทำงานในสังกัดกรมชลประทานไสวก็ยังคงที่จะพิสูจน์ตนเองผ่านการทำงานสนองโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ช่วยฟูมฟักจิตใจ ทำงานเพื่อประชาชนมาตลอดหลายสิบปี จึงนับเป็นบทบาทหนึ่งของบุคคลชลประทานที่ควรกล่าวถึงและสมควรแก่การบันทึกเรื่องราวให้คนรุ่นหลังได้รู้จักโดยทั่วกัน