ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สนค. คาดส่งออกปี 2563 ขยายตัว เร่งผลักดันสินค้ากว่า 30 รายการ สถิติมูลค่าส่งออกสูงสุด


สนค. คาดส่งออกปี 2563 ขยายตัว เร่งผลักดันสินค้ากว่า 30 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม สถิติมูลค่าส่งออกสูงสุด ท่ามกลางการค้าโลกที่ชะลอตัวในปี 2562 และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวได้ดี และควรที่จะเร่งรัดผลักดันการส่งออกเพิ่มมากขึ้นในปี 2563 เพื่อผลักดันให้การส่งออกภาพรวมกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยพบว่ามีสินค้ากว่า 30 รายการ

ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของการส่งออกทั้งหมด และในปี 2562 ที่ผ่านมา มีการขยายตัวมากกว่า 13% ท่ามกลางการค้าโลกที่ชะลอตัว และคาดว่าสินค้ากลุ่มนี้ จะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้

สำหรับสินค้าทั้ง 30 รายการที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น ในกลุ่มของสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร

“ที่มองว่าสินค้ากลุ่มนี้ การส่งออกจะขยายตัวได้ดีในปีนี้ เพราะปีที่แล้ว แม้จะมีปัจจัยลบกดดัน ทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า และผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ไทยก็สามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ได้สูงสุดเป็นประวัติการ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของตลาดได้ จึงส่งผลดีต่อเนื่องถึงปีนี้ หากมีการส่งเสริมและผลักดันมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งออกได้มากขึ้น”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกภาพรวมในปี 2563 สนค. ประเมินว่าจะกลับมาขยายตัวได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.3% ในปี 2563 จาก 2.9% ในปี 2562 และเห็นสัญญาณว่าการค้าโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุดจากกิจกรรมการผลิตในหลายสาขา

ท่าทีความพร้อมในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) สถานการณ์ Brexit มีความชัดเจนแล้ว และมีช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะยังไม่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยเดือน ม.ค. 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.44 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ กลับมาอ่อนค่าในรอบ 9 เดือน

ส่วนประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีน สนค. มองว่ายังไม่น่ากระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีน เพราะมีอุปสงค์ซื้อสินค้าอาหารไทยที่มีความปลอดภัยและคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้มีการชะงักของการค้า

ทางด้านการรับมือกับผลกระทบจากการที่จะถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และเตรียมมาตรการรองรับในทุกกรณีอย่างรัดกุม เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกน้อยที่สุด โดยกรมการค้าต่างประเทศมีแผนรองรับสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และในด้านการรักษาตลาด

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมายกว่า 18 ประเทศ ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญตามแนวนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เพื่อรักษาฐานเดิมและขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างครอบคลุม และกระจายความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยมีตลาดเป้าหมายการจัดกิจกรรมในตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังคลาเทศ CLMV ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย แอฟริกา แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง บาห์เรน และออสเตรเลีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น