ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ตลาด “มะพร้าว-ทุเรียนไทย” เจอวิกฤติ “ไวรัสอู่ฮั่น” ยอดส่งออกลดฮวบ แนะหาตลาดใหม่และอุดหนุนสินค้าไทย


วิกฤตไวรัสโคโรน่าพ่นพิษทำยอดส่งออกมะพร้าวอ่อนที่มีตลาดหลักอยู่ที่เมืองอู่ฮั่นได้รับผลกระทบ ในขณะที่ “ทุเรียนไทย” กำลังจะมีคู่แข่งเพิ่มเนื่องจากประเทศเวียดนามกำลังพัฒนาพันธุ์ทุเรียนหมอนทองส่งออก ซึ่งหากเวียดนามทำการสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย ด้านกูรูแนะภาครัฐเร่งหาตลาดใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสขยายตลาดผลไม้โดยเพราะทุเรียนและมะพร้าวอ่อน พร้อมทั้งแนะประชาชนคนไทยหันมาบริโภคสินค้าไทยในช่วงวิกฤติ

นายปรีชา ตรีสุวรรณ President Thailand Tanzania Business Center และประธานสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทย (THAI EXPORTER AND MANUFACTURER ASSOCIATION) หรือ TEMA กล่าวว่าจากการการประชุมเมื่อวัน ที่ 15 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ได้กล่าวถึงวิกฤตของไวรัสโคโรนาซึ่งมีประชากรในหลายประเทศได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวของไทยที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งชื่นชอบรสชาติของผลไม้ไทย เมื่อเกิดวิกฤตจากไวรัสดังกล่าว ทำให้ยอดจำหน่วยผลไม้ไทยลดลงจากการถูกยกเลิกออเดอร์ผลไม้ไทยเข้าประเทศ

“ทุเรียนและมะพร้าวอ่อนของไทยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากลูกค้าผู้นำเข้าหรือล้งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเชื้อไวรัสโคโรนาระบาดทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องทิ้งผลผลิตให้เน่าเสีย หรือนำออกมาขายในราคาถูก นอกจากนี้ ไทยเราต้องเจอกับปัญหา ทุเรียนไทย ที่ในอนาคตอาจจะโดนประเทศเพื่อนบ้านตีตลาด เนื่องจากในขณะนี้ที่ประเทศเวียดนามกำลังพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทองอีกทั้งภาครัฐของคู่แข่งอื่นๆ ก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ จึงคาดว่าน่าจะเกิดผลกระทบบ้างไม่มากก็น้อย”

 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วมาแก้ไข ซึ่งมิใช่วิธีที่ถูกต้อง โดยนายปรีชากล่าวว่า ที่ผ่านมาตนและสมาคมฯ ได้ดำเนินการประสานงานนำผลไม้ไทยไปเปิดการแสดงโดยจัดทำเป็น Event เช่นการจัดงาน Thai Fruit Festival ที่ Bucharest Chamber of Commerce and Industry ในกรุง Bucharest ประเทศ Romania เมื่อเดือน ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ได้ร่วมกันกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุง Bucharest ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมทั้งในนำนักธุรกิจไทยเดินทางต่อไปยังประเทศ Romania เมื่อเดือนตุลาคม 2019 และที่กรุง Istanbul ประเทศ Turkey ได้นำเอาผลไม้ไทยไปนำเสนอแก่บริษัทผู้นำเข้าของตุรกีรายใหญ่รายหนึ่ง

“เราพบว่ามีปัญหาการนำเข้าไปยังประเทศตุรกี เนื่องจากผู้นำเข้าได้นำเข้าผลไม้จากประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่มีการทำ FTA กับตุรกีเรียบร้อยแล้ว ส่วนไทยนั้นยังไม่บรรลุผลการเจรจากับตุรกี ซึ่งคาดว่าปี 2020 นี้น่าจะคืบหน้าไปจนสามารถลงนามได้ ซึ่งตัวผมเองก็ได้นำเรื่องนี้เรียนผ่านเจ้าหน้าที่ของ DITP และ DTN ของกระทรวงพาณิชย์ ที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาให้ทราบว่า ผู้ประกอบการไทย ต้องการ FTA ไทย – ตุรกี และได้เรียนต่อไปด้วยว่าเราก็ต้องการ FTA ไทย – อียู หรือจะเป็น FTA ระหว่าง อียู – AEC ก็ยังดีที่จะได้มีโอกาสมากขึ้นในตลาดยุโรป เพื่อที่จะได้สนับสนุนผู้ส่งออกผลไม้ไทย ในตลาดต่าง ๆ เพื่อทดแทนตลาดจีนเมื่อมีปัญหา ผมกล่าวล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้แล้ว”

นอกจากนี้ ทางด้าน ผลผลิตมะพร้าวสดไทยก็เริ่มมีปัญหาแล้วเช่นกัน ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากไวรัสโคโรนา เนื่องจากผลผลิตที่ออกมาจะต้องทำการคัดก่อนที่จะกลายเป็นมะพร้าวแก่รับประทานสดไม่ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มียอดส่งออกมะพร้าวสดวันล่ะนับหมื่นลูก แต่ในขณะนี้ไม่สามารถที่จะส่งไปตลาดจีนได้ โดยเฉพาะในเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นตลาดที่ไทยส่งออกไปโดยตรง ทำให้เจ้าของสวนต้องวิ่งวุ่น หาตลาดใหม่มาทดแทนตลาดที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว

“จากปัญหาดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการสร้างตลาดใหม่ ๆ มาทดแทนตลาดที่มีอยู่เดิม เพื่อการขยายแนวทางการตลาดให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ให้เกิดทางเลือก และเกิดการแข่งขันมากขึ้น มิใช่มุ่งสู่แต่ตลาดจีนอย่างเดียวเท่านั้น ยุโรป อเมริกา เอเชียตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ตลาดแอฟริกาก็น่าจะหันมาให้ความสนใจ เช่นกัน เพื่อความรุ่งเรืองของธุรกิจ” นายปรีชากล่าวในที่สุด