ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

มองทิศทาง “แฟรนไชส์” ปี 2020 แนะเน้นขยายสาขาให้น้อย แต่ต้องมากด้วยคุณภาพ


สู่ศักราชใหม่ของการเริ่มต้นทำธุรกิจแห่งปี โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ ที่แน่นอนว่าในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างมากในโลกธุรกิจ ทำให้เราต้องมีการคาดคะเนถึงผลบวกผลลบต่อการตัดสินใจ คาดคะเนผลบวก ซึ่งธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2020 จะมีทิศทางเป็นเช่นใดนั้น อาจารย์จิรภัทร สำเภาจันทร์ ที่ปรึกษาการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์ Top Business Consultant & Management Co.,Ltd. ได้สรุปเนื้อหาไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.การขยายสาขาแฟรนไชส์จะเน้นขายสิทธิ์ให้แฟรนไชส์ซีน้อยราย ไม่ใช่เน้นขายให้นักลงทุน 1 ราย ต่อ 1 สาขาเหมือนเดิมอีกต่อไป

เหตุเพราะว่าการให้สิทธิ์แฟรนไชส์นั้นต้องเรียนรู้และคัดเลือกผู้ซื้อสิทธิ์ที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและความเข้าใจกันเป็นอย่างดี และบทเรียนที่ผ่านมาทำให้กิจการแฟรนไชส์เข้าใจได้ว่า ยิ่งมีนักลงทุนเยอะ ยิ่งทำให้ต้นทุนสูงและความเสี่ยงสูง การสื่อสารและทำความเข้าใจก็ยิ่งล่าช้า

ดังนั้นในแฟรนไชส์ขนาดใหญ่จึงเริ่มที่จะยกเลิกนโยบายเปิดขายให้แฟรนไชส์ซีรายใหม่ ที่ไม่เคยซื้อแฟรนไชส์กันมาก่อน แต่จะเน้นให้สิทธิ์แฟรนไชส์ซีเดิมที่เคยทำธุรกิจด้วยกันมาแล้วและมีความสัมพันธ์ที่ดี มีผลงานการทำธุรกิจที่ดี สร้างยอดขายได้ดี พัฒนาตัวเองได้ดี ปฏิบัติตามนโยบายของสำนักงานใหญ่ได้

นอกจากนี้แล้ว ฟากฝั่งของทางแฟรนไชส์ซี หากขยายสาขาร่วมกับบริษัทแม่หลายๆ สาขา ก็จะมีผลดีเรื่องต้นทุนในการบริหารจัดการสาขา และความสนใจโฟกัสธุรกิจจะดีกว่าการซื้อสิทธิ์สาขาเพียง 1 แห่ง โดยในแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เริ่มไปแล้วในการดำเนินการ ตามรูปแบบนี้ ได้แก่ กิจการร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ 7-11 ที่ประกาศนโยบายให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับผู้ซื้อรายเดิม ไม่รับนักลงทุนใหม่
หรือแบรนด์ธุรกิจต่างๆ จากต่างประเทศที่เข้ามาขยายตลาดเมืองไทยหลายๆ รายก็เริ่มใช้นโยบายนี้แล้ว ส่วนกิจการแฟรนไชส์เจ้าของคนไทยทั้งหลายหลังจากขยายแฟรนไชส์ได้สักระยะ ก็จะมีแนวโน้มปรับเข้าสู่รูปแบบนี้เช่นกัน ซึ่งจะเริ่มเห็นได้มากขึ้นนับจากนี้

2.บริษัทแฟรนไชส์ซอร์ ที่แข็งแรงมั่นคง มีแนวโน้มจะขยายสาขาให้เป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด โดยไม่เปิดสาขาของตนเอง  

ซึ่งปกติตามทฤษฏีแฟรนไชส์เดิมนั้น แฟรนไชส์ซอร์ต้องมีสาขาของตนเองเพื่อเรียนรู้และเป็นรายได้เลี้ยงองค์กรหลัก และขยายแฟรนไชส์เพิ่มเติมตามเป้าหมาย
แต่ในแนวโน้มนับต่อจากนี้ แฟรนไชส์ที่มีความพร้อมและศักยภาพ หลังจากเปิดสาขาด้วยตนเองและขยายให้แฟรนไชส์ไปแล้ว จะย้อนกลับมาขายสาขาของตนเองที่เปิดไปแล้ว ให้กับแฟรนไชส์ซีเข้ามาบริหารจัดการกันมากขึ้น จนกระทั่งแฟรนไชส์บางรายอาจเก็บสาขาของบริษัทแม่ไว้เพียงเล็กน้อย หรือขายทั้งหมด

สาเหตุที่แนวโน้มเป็นเช่นนี้ เพราะว่า การบริหารสาขาของบริษัทฯ แม่นั้น มีรายละเอียดการบริหารจัดการที่ซับซ้อนกว่าการบริหารสาขา อันทำให้แฟรนไชส์ในยุคใหม่มองว่า แม้จะทำเงินกำไรให้แต่ก็ต้องทำให้สมาธิแบ่งไปดูแลทั้งสาขาของตนเอง และสาขาของแฟรนไชส์โดยส่วนหนึ่งมีแนวคิดที่จะทำให้องค์กรส่วนกลางมีขนาดเล็กลง กระชับ เคลื่อนที่เร็ว ทำงานสนับสนุนแฟรนไชส์ซีเป็นหลัก

นอกจากนี้ การขยายแฟรนไชส์สาขาที่มีกำไรแล้ว เปิดมานานแล้ว ย่อมเป็นสินทรัพย์ที่ขายได้ราคาสูงกว่าการขายแฟรนไชส์ที่เปิดในทำเลใหม่ และผู้ซื้อลงทุนก็ไม่เสี่ยง รู้รายได้ในอดีตที่ผ่านมา และมีความมั่นใจในการลงทุน แม้จะจ่ายแพงกว่าเดิมก็ตาม
กิจการที่เริ่มใช้นโยบายดังกล่าวนี้ ได้แก่ แฟรนไชส์ร้านอาหารไก่ทอดชื่อดัง KFC ที่ขายสาขาของตนเอง 244 สาขาในไทยให้กับแฟรนไชส์ซี จากสาขาทั้งหมดที่มี ประมาณ 586 สาขา ทำให้สาขาเป็นของแฟรนไชส์ซี 100 % โดยนโยบายนี้ทาง KFC จะดำเนินการในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

สำหรับในต่างประเทศที่ดำเนินการตามรูปแบบนี้ ยกตัวอย่างเช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จดี ธุรกิจเติบโตมากขึ้น ล่าสุดคือที่ จีน ที่เปลี่ยนแปลงเสร็จปลายปีที่ 2561 (2 ปีที่แล้ว) โดยแยกออกไปเป็น ยัมไชน่า เพื่อดูแลร้านกว่า 7,000 สาขาทั้งหมด ส่วนยัมฯ เองก็ไม่ได้ลงทุนและบริหาร โดยขณะนี้ KFC มีสาขาอยู่ทั่วโลกประมาณ 18,875 สาขา ใน 118 ประเทศ ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจในการแปลงร่างกิจการของท่านให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคต

ขอขอบคุณข้อมูลโดย : อาจารย์จิรภัทร สำเภาจันทร์ ที่ปรึกษาการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์ Top Business Consultant & Management Co.,Ltd.

และขอขอบคุณที่มาจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA)