ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ออกแบบสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อย่างไรให้โดนใจลูกค้า


หลายท่านที่เคยไปเดินชมสินค้า หรือไปจับจ่ายซื้อสินค้าที่ อิเกีย (IKEA) คงมีความรู้สึกเหมือนๆ กันว่า เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ มันช่างโดนตาโดนใจ ทั้งในด้านการออกแบบ สีสัน การใช้สอย และการจัดแสดงสินค้า

อิเกียยึดหลักการออกแบบที่มุ่งเน้นลูกค้าเป้าหมายเป็นศูนย์กลางของการออกแบบ (Customer Centered Design)โดยพยายามให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ว่า

“At IKEA our vision is to create a better everyday life for the many people. Our Business idea supports this vision by offering a wide range of well-designed, functional home furnishing products at prices so low that as many people as possible will be able to afford them.”

เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากมาย รวดเร็ว และยังสามารถสื่อสารระหว่างผู้บริโภคด้วยกันและกับบริษัทผู้ผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์หลายชิ้นเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้บริโภคกับนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ โดนใจผู้บริโภคอย่างจัดเต็ม ทั้งในด้านคุณค่าการใช้งาน (Functional Value) คุณค่าความทันสมัย เท่ (Fashionable Value) และคุณค่าเงินคุ้มค่า (Financial Value)

อิเกียคิดถึงราคาขายของผลิตภัณฑ์ก่อนการคิดสร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพราะอิเกียต้องการให้ผู้บริโภคจำนวนมากสามารถซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ หลังจากกำหนดราคาขายชัดเจนแล้ว นักออกแบบของอิเกียจะทำงานร่วมกับผู้ขาย ปัจจัยการผลิตในการคัดสรรวัตถุดิบ เทคโนโลยีการผลิต กระบวนการบรรจุภัณฑ์ และการจัดส่ง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด และทำให้มีต้นทุนต่ำ สามารถขายได้ในราคาถูกในจำนวนมากๆ

การออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อประสบการณ์การใช้งานของผู้บริโภค (User Experience) ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งานของผู้บริโภค ทั้งในด้านความคาดหวัง อารมณ์ ฯลฯ

นักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีต้องเริ่มจากการรู้ว่า ใครเป็นผู้ใช้ ความคาดหวัง และความต้องการของผู้ใช้ การรับรู้ของผู้ใช้สภาพแวดล้อมของการใช้งาน และประสบการณ์ของผู้ใช้ ทั้งนี้ต้องพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด

การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงหลัก 7 ประการดังนี้

ประโยชน์ใช้สอย (Functions)
ความงาม (Aesthetic)
ความถูกต้องตามหลักสรีระศาสตร์ (Ergonomics)
ความปลอดภัยในการใช้งาน (Safety)
ราคาขายและต้นทุนการผลิต (Price & Cost)
ความแข็งแรงทนทาน (Durable)
การบำรุงรักษา (Maintenance)
อิเกียยึดหลักการดังกล่าวข้างต้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งนี้ เพราะลูกค้าเป้าหมายของอิเกียเป็นคนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่เริ่มสร้างครอบครัว ไม่มีความสามารถในการจับจ่ายสินค้าราคาแพงมาก

สำหรับผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในเรื่องแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์และให้ความสำคัญในรูปแบบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นสากล เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์

กระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์สามารถแบ่งง่ายๆ ได้ดังนี้

การวิเคราะห์ (Analysis)
แนวคิด (Concept)
การสังเคราะห์ (Synthesis)
ในขั้นตอนของการวิเคราะห์ นักออกแบบต้องยอมรับสถานการณ์ ข้อจำกัด กฎเกณฑ์ เงื่อนไขต่างๆ แล้วคิดสร้างสรรค์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด อย่างกรณีของอิเกียคือราคา เพราะฉะนั้นนักออกแบบต้องหาทางสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์ที่ดีในราคาที่กำหนด ส่วนในเรื่องของการวิเคราะห์ ต้องอาศัยการสำรวจความต้องการของผู้บริโภค เทคโนโลยีการผลิต วัตถุดิบ และผู้ขายปัจจัยการผลิตต่างๆ

ในขั้นตอนของแนวคิดการออกแบบ เป็นการให้คำจำกัดความสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ในการออกแบบ ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขต่างๆ ในการออกแบบในขั้นตอนที่ 1 ต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่

ขั้นตอนการสังเคราะห์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องแลกเปลี่ยนความคิด ข้อมูล ปัญหา ในการออกแบบ ทั้งนี้ ต้องพยายามรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่มีอคติ หรือยึดถือความคิดของตนเองมากเกินไป แล้วต้องหาข้อสรุปที่เห็นพ้องร่วมกัน เพื่อนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ แล้วนำมาทดสอบประเมินผลลัพธ์ในด้านต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์การออกแบบผลิตภัณฑ์

การตลาดเป็นปัจจัยสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพราะผลิตภัณฑ์นั้น เมื่อผลิตออกมาแล้วต้องขายได้ อย่างที่ผมพูดหลายครั้งว่า การประดิษฐ์คิดค้น (Invention) ที่ขาดการตลาด ไม่สามารถเกิดเป็นนวัตกรรม (Innovation) ได้

โดยทั่วไป แนวทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่จัดง่ายๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ Demand-pull Innovation และ Invention-push

Demand-pull คือ ตลาดหรือผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่แล้ว นักออกแบบผลิตภัณฑ์เพียงแต่สร้างสรรค์งานที่ตอบสนองความต้องการนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ครั้งแรกในโลก หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม หรืออาจจะเป็นการลอกเลียนดัดแปลงผลิตภัณฑ์เดิมๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาด ตัวอย่างผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้แก่ Samsung Galaxy รุ่นต่างๆ

Invention-push เป็นการออกแบบจากการคิดค้นพัฒนา หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ความคิดใหม่ของนักออกแบบแนวคิดนี้ต้องอาศัยการตลาดอย่างมากในการทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นที่รู้จัก ยอมรับ และสามารถขายได้ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เช่น Ipod Iphone Ipad เป็นต้น

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเตือนใจนักออกแบบผลิตภัณฑ์ก็คือ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียจากผลิตภัณฑ์นั้น และพยายามตอบสนองความต้องการของเขาเหล่านั้นให้มากที่สุด