ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รู้สักนิด!! ธุรกิจอะไรบ้าง ที่สร้างเป็นแฟรนไชส์ “ได้” และ “ไม่ได้”


สำหรับในแวดวงธุรกิจ “แฟรนไชส์” คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ธุรกิจที่สามารถยกระดับพัฒนาขึ้นมาเป็นระบบแฟรนไชส์นั้นมักจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจบริการ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ยังมีอีกหลายธุรกิจนักที่สามารถทำในรูปแบบแฟรนไชส์ได้และมีแนวโน้มไปได้สวยเลยทีเดียว

จากบทความของ อาจารย์จิรภัทร สำเภาจันทร์ ที่ปรึกษาการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์ Top Business Consultant & Management Co.,Ltd ได้กล่าวถึงประเภทของธุรกิจแบบไหนที่สามารถนำมาทำเป็นแฟรนไชส์ได้และไม่ได้อย่างน่าสนใจมากทีเดียวค่ะ

โดยอาจารย์จิรภัทร กล่าวว่าขณะที่โลกธุรกิจแข่งขันกันดุเดือด บริษัทยักษ์ใหญ่เองก็พยายามสยายปีกด้วยกำลังเงินที่มีมาก ด้วยการขยายบริษัทฯ เปิดสาขา ซื้อโนว์ฮาว ซื้อกิจการ เป็นเครื่องมือในการเร่งการเติบโตให้สร้างรายได้ ขยายกำไรได้เต็มที่ แต่ในส่วน “เอสเอ็มอี” ธุรกิจของคนตัวเล็กๆ ที่ขาดแคลนปัจจัยสู้รบหลายประการ ทั้งขาดเม็ดเงินสนับสนุน ขาดคนเก่ง ขาดโอกาสในการบุกพื้นที่ตลาดห่างไกล จะทำอย่างไรให้แข่งขันในเกมเศรษฐกิจได้

ดังนั้น “แฟรนไชส์” จึงถือเป็นเครื่องมือช่วยรบสำคัญของธุรกิจ SMEs ที่จะช่วยทำให้ฝันของผู้ประกอบการทั้งหลายเป็นจริงได้ หากมีการวางระบบได้ถูกต้อง โดยจะทำให้คนตัวเล็กสามารถสร้างแบรนด์ได้อย่างรวดเร็ว ผ่านป้าย รูปแบบร้านค้า สินค้า ด้วยการกระจายสาขาออกไป ด้วยเงินลงทุนของผู้อื่น แถมยังสามารถบุกธุรกิจไปยังท้องถิ่นที่ไม่คุ้นเคยด้วยความชำนาญของคนในพื้นที่ ลดความเสี่ยงในการดำเนินการลง ลดต้นทุนการขยายธุรกิจ ลดต้นทุนดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ยังสามารถได้คนทำงานที่ทุ่มเทใส่ใจมาบริหารสาขาแทนการจ้างคนด้วยตนเอง การเปิดสาขาใหม่ทางเจ้าของกิจการก็ได้เงินค่าแรกเข้าจากผู้ซื้อแฟรนไชส์ เพื่อนำมาสร้างสาขาใหม่ และตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจ เจ้าของสาขาก็ยังได้เงินส่วนแบ่งกำไรจากสาขาแฟรนไชส์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ ข้อดีของระบบแฟรนไชส์
ประเด็นสำคัญคือ กิจการประเภทใด สามารถสร้างเป็นแฟรนไชส์ได้บ้าง หากมองไปในพื้นที่ค้าปลีก จะพบว่า ธุรกิจแฟรนไชส์มักสร้างขึ้นในธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ไอศกรีม เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็จะเป็นธุรกิจการศึกษา โรงเรียนกวดวิชา ธุรกิจบริการ อาทิ ธุรกิจดูแลรถยนต์ ขัดเคลือบสี ธุรกิจความงาม ธุรกิจขนส่ง เป็นต้น

แต่เชื่อหรือไม่ว่า ธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถออกแบบให้เป็นแฟรนไชส์ได้ หากสามารถดีไซน์รูปแบบธุรกิจให้เกิดความลงตัวได้ เช่น ธุรกิจรับสร้างบ้าน ใครจะเชื่อว่า งานรับสร้างบ้านให้สิทธิ์ในระบบแฟรนไชส์ได้ ปัจจุบันทำสำเร็จแล้วและเติบโตเป็นอันดับหนึ่งของตลาด ด้วยยุทธศาสตร์แฟรนไชส์ หรือจะเป็นธุรกิจร้านสะดวกซักหยอดเหรียญ จัดโมเดลดีๆ ก็กลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรและออกแบบให้เป็นแฟรนไชส์ได้

ทั้งนี้ ธุรกิจในต่างประเทศก็มีธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจบริหารงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ในสหรัฐอเมริกา ที่เติบโตจนมียอดรายได้ปีละมากกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สามารถขยายรูปแบบการดูแลงานนิติบุคคลกระจายไปยังหลากหมู่บ้าน หลายคอนโดมิเนียม ได้ในหลายมลรัฐของอเมริกา

ซึ่งหากไม่ใช้ระบบแฟรนไชส์จะไม่สามารถขยายธุรกิจนี้ออกไปได้ เพราะธุรกิจนิติบุคคลหมู่บ้านนั้น ย่อมปวดหัวกับเรื่องบริหารคนที่ประจำหน้าที่ แต่เมื่อมีแฟรนไชส์นี้ ทำให้ลูกบ้านเองก็สนใจซื้อแฟรนไชส์เข้ามาบริหารหมู่บ้านของตนเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย

ส่วนธุรกิจที่ออกแบบเป็นแฟรนไชส์ได้ยาก (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้) คือ ธุรกิจที่จำเพาะเจาะจงต่อความเชื่อถือของลูกค้าที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคล เช่น ธุรกิจหมอดูดวงชะตา ที่จะผูกกับชื่อเสียงของเจ้าสำนัก เมื่อกระจายแบรนด์ออกไปก็จะขาดกระบวนการควบคุม และตัวล็อกทางธุรกิจ

ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบ มักจะเกิดจากตัวธุรกิจสามารถสร้างและขยายเป็นแฟรนไชส์ได้ แต่เจ้าของกิจการขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ ขาดทีมงาน ขาดที่ปรึกษาที่ดี และขาดงบประมาณ ทำให้สร้างแฟรนไชส์แบบผิดๆ ออกแบบธุรกิจขาดความรอบคอบ มีความอยากได้เงินค่าแรกเข้าสูงจนยอมที่จะเปิดสาขาให้แฟรนไชส์ไปโดยไม่ได้สร้างกระบวนการที่ดีเพียงพอ สุดท้ายปัญหาคือ ความล้มเหลวของแฟรนไชส์ซี เสียชื่อเสียง จนพาลมาหาแฟรนไชส์ซอที่จะต้องพังพินาศตามไปด้วย

ปัญหาของแฟรนไชส์ในไทย คือ เจ้าของแฟรนไชส์ คิดว่าตัวเองรู้ และคิดว่าทำได้ ทั้งๆ ที่ทำได้แต่ไม่ดี ก็ลองแบบผิดๆ กันไป กว่าจะรู้ตัวก็ต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียชื่อ และเกิดความผิดพลาดหลายประการ ดังนั้น ก่อนจะลงมือสร้างแฟรนไชส์ ต้องสร้างความรู้และสร้างทีมงานเสียก่อน หากูรูที่รู้จริงคอยช่วยเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : อาจารย์จิรภัทร สำเภาจันทร์ ที่ปรึกษาการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์ Top Business Consultant & Management Co.,Ltd.

และขอขอบคุณที่มาจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์