สำหรับพืชเศรษฐกิจที่ทนแล้งและสร้างรายได้ในระยะยาวในชั่วโมงนี้ ต้องขอยกให้ “ไผ่รวก” และ “มะม่วงหิมพานต์” ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมทั้งจากในประเทศและในแถบประเทศเพื่อนบ้าน
โดยไผ่รวก มีคุณสมบัติมีความยืดหยุ่น สามารถนำไม้ไปแปรรูป ทำที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่สร้างมูลค่าให้กับเกษตรกรผู้ปลูก และ มะม่วงหิมพานต์ นั้นสามารถส่งโรงงานแปรรูปส่งขายในรูปแบบอาหารแปรรูปด้วย
นายพลเชษฐ์ ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในพื้นที่จังหวัดน่านตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 44,642 ไร่ (ข้อมูล ณ 14 กุมภาพันธ์ 2563) และพบว่าสถานการณ์ภัยแล้งยังส่งผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร เกษตรกรจึงควรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย มีความทนทานต่อภัยธรรมชาติ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง
จากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) เพื่อศึกษาสินค้าเกษตรที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดน่าน พบว่า ไผ่รวกและมะม่วงหิมพานต์ เป็นพืชเศรษฐกิจที่ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เนื่องจากเป็นพืชที่เหมาะสมต่อการปลูกในสภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ใช้น้ำน้อย มีต้นทุนการผลิตต่ำแต่ให้ผลตอบแทนสูง อีกทั้ง ตลาดยังมีความต้องการต่อเนื่อง โดยสินค้าทางเลือกแต่ละชนิด มีต้นทุนและผลตอบแทน ดังนี้
-ไผ่รวก มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 18,983 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 16,010 ไร่ ผลผลิตรวม 14,232,890 ลำ/ปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอปัว ท่าวังผา สันติสุข และทุ่งช้าง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย5,503 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิต ในปีที่ 3-4 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ระยะยาว) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 889 ลำ/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 6,833 บาท/ไร่ หรือ 7.69 บาท/ลำ ราคาที่เกษตรกรขายได้ 13.50 บาท/ลำ ลักษณะของไผ่ลวก สามารถทนแล้งได้ดี ปลูกง่ายในดินร่วนปนทราย ปลูกได้ตั้งแต่ที่ราบจนถึงภูเขาสูง 400 – 600 เมตร ต้องการปริมาณน้ำฝนเพียง 1,020 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิที่เหมาะสม 8.8 – 36 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงปีแรกๆ ที่ไผ่ยังไม่ให้ผลผลิต เกษตรกรอาจปลูกพืชผัก สมุนไพร หรือพืชตระกูลถั่วแซมเพื่อเพิ่มรายได้ หรือปลูกควบคู่กับไม้ผลอื่นๆ ได้ด้วย ด้านการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายในลักษณะเหมาสวนให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น อีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้แก่พ่อค้าต่างจังหวัด เพื่อขนส่งไปยังผู้เลี้ยงฟาร์มหอยแมลงภู่ในภาคกลางและภาคใต้ เนื่องจากลำไม้ไผ่มีความยืดหยุ่น ทนกระแสคลื่นและลมทะเลได้ดี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่อำเภอนาน้อย นำมาแปรรูปเป็นตะเกียบ ไม้เสียบลูกชิ้น เครื่องเรือน เครื่องจักรสาน วัสดุตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์
-มะม่วงหิมพานต์ มีพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 23,090 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 13,554 ไร่ ผลผลิตรวม 6,573,690 กก./ปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ อยู่ในอำเภอนาหมื่น แม่จริม เมืองน่าน และสันติสุข มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,077 บาท/ไร่ (เริ่มให้ผลผลิต ในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวผลผลิต ได้ระยะยาว) ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม ให้ผลผลิตเป็นเมล็ดสดไม่กะเทาะเปลือกเฉลี่ย 485 กก./ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 8,107.50 บาท/ไร่ หรือ 16.72 บาท/กก. ราคาที่เกษตรกรขายได้ 36.50 บาท/กก. เป็นพืชอีกชนิดที่ทนแล้ง ปลูกง่ายในสภาพอากาศชื้นและอบอุ่น น้ำไม่ท่วมขัง ซึ่งในช่วง 1-2 ปีแรก เกษตรกรอาจปลูกพืชไร่แซมเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และช่วยกำจัดวัชพืช ด้านการจำหน่ายผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จำหน่ายให้แก่พ่อค้าในท้องถิ่นและ อีกร้อยละ 10 จำหน่ายตรงให้โรงงานแปรรูปในจังหวัด เพื่อแปรรูปเป็นเมล็ดกะเทาะเปลือกดิบและอบพร้อมรับประทาน ซึ่งในปี 2565 โรงงานแปรรูปดังกล่าวมีแผนจะรับซื้อผลผลิตประมาณ 5,000 ตัน
ด้าน นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดน่าน เป็นป่าและภูเขาสูง พืชเศรษฐกิจหลักคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว และมักประสบปัญหาราคาตกต่ำ อีกทั้งยังประสบปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ เกิดการชะล้างพังทลาย ส่งผลให้ผลิตภาพและรายได้ทางการเกษตรลดลง ดังนั้น นโยบาย หรือมาตรการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพืชเดิมให้เป็นพืชที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะพืชทนแล้ง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานระดับพื้นที่ควรดำเนินการโดยเร่งด่วน
โดยจังหวัดน่านนับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตไผ่ที่สำคัญของภาคเหนือ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ไผ่เพื่อส่งเสริมการปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรม พื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดการทำลายป่า ป้องกันบรรเทาภัยธรรมชาติ ช่วยดูดซับคาร์บอนและลดภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับมะม่วงหิมพานต์ ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่า ส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้ รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่นเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวของจังหวัด กล่าวได้ว่า ไผ่และมะม่วงหิมพานต์ สามารถสร้างรายได้ ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน และเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า และสร้างสมดุลระบบนิเวศของจังหวัดน่านได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ เกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.2 โทร. 05 532 2658 หรือ [email protected]