ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

กรมพัฒน์ฯ เปิดงานปฐมนิเทศหลักสูตรพาแฟรนไชส์ยกระดับด้านบริหารจัดการ ก่อนลงพื้นที่สร้างมาตรฐานให้ธุรกิจ 40 ราย


กรมพัฒน์ฯ เปิดงานปฐมนิเทศหลักสูตรพาแฟรนไชส์ยกระดับด้านบริหารจัดการ ก่อนลงพื้นที่สร้างมาตรฐานให้ธุรกิจ 40 ราย เชื่อ! สร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 144 ล้านบาทต่อปี

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรมยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2563 เริ่มต้นด้วยการเสวนาแบ่งปันประสบการณ์สะท้อนมุมมองของทิศทางธุรกิจและมาตรฐานธุรกิจจากกูรูด้านแฟรนไชส์ ก่อนติวเข้ม 40 ธุรกิจ ลงพื้นที่จริงให้คำปรึกษาเชิงลึก จบหลักสูตรได้รับสิทธิประโยชน์เพียบ! คาด…ธุรกิจกลุ่มนี้จะออกไปสร้างรายได้ให้หมุนเวียนในประเทศมากถึง 144 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในวันนี้ (5 มีนาคม 2563) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดพิธีเปิดกิจกรรมยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 แล้ว ตั้งแต่ปี 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ให้มีการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน

เป็นที่น่าเชื่อถือต่อผู้ลงทุน และได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสในการแข่งขันทางการตลาดมากขึ้น รวมถึงในวันนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาพิเศษหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทย 2020” ได้รับเกียรติจากนายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ บริษัท The Pizza Company, บริษัท ฟีนิกซ์ ลาวา จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์เป็นผู้ร่วมเสวนา และการบรรยายหัวข้อ “การสร้างองค์ความรู้เกณฑ์มาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจในระบบแฟรนไชส์

อธิบดี กล่าวต่อว่า “ในปีนี้กรมฯ มีเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจำนวน 40 ธุรกิจ โดยธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมยกระดับฯ ตลอดระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุดกิจกรรมเดือนมิถุนายน 2563) จะต้องจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี มีร้านแฟรนไชส์ซีอย่างน้อย 1 สาขา สำหรับแนวทางการยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

1) การสร้างองค์ความรู้ด้านคุณภาพมาตรฐาน อาทิ การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ การประกันคุณภาพ และการบริหารจัดการธุรกิจที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

2) จัดทีมที่ปรึกษาด้านแฟรนไชส์ลงพื้นที่ ณ สถานประกอบธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละธุรกิจที่จะต้องได้รับการพัฒนาในแต่ละด้านให้ตรงจุด และให้คำปรึกษา (Coaching) เชิงลึกตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์

3) การเชื่อมโยงเครือข่ายและการต่อยอดธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่เข้าร่วมโครงการ

4) การศึกษาดูงาน ณ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานฯของกรม (Best Practice)

5) การพาธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการยกระดับฯ ไปร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อนำเสนอศักยภาพของธุรกิจ (Business Showcase)”

“อย่างไรก็ดี ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการยกระดับฯ จะมีสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจหลายด้าน ได้แก่ ได้รับใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมกับเครื่องหมาย Franchise Standard (มีอายุการใช้งาน 2 ปี) เพื่อการันตีคุณภาพของธุรกิจแฟรนไชส์, ประสบการณ์ศึกษาดูงานจากธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จระดับประเทศ, โอกาสในการร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรของกรมฯ, การประชาสัมพันธ์รายชื่อธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานฯ ทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเกิดความน่าเชื่อถือแก่คู่ค้าหรือแฟรนไชส์ซี (Franchisee) และมีโอกาสต่อยอดความรู้ในหลักสูตรพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่สากล (Thai Franchise Toward Global) ที่กรมฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอีกด้วย”

“สุดท้ายนี้ หากพิจารณารายได้ขั้นต่ำของธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ที่ 1.8 ล้านบาทต่อปี ถ้าธุรกิจที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 40 ราย นำความรู้ไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจของตนเองได้ และสามารถขยายสาขาได้รายละ 2 สาขา ก็จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นถึง 144 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น โมเดลการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ แฟรนไชส์จึงมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และนักลงทุนไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการลองผิดลองถูก สามารถบริหารธุรกิจภายใต้มาตรฐานสากลได้อย่างยั่งยืน” อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย