ปัจจุบันเราจะเห็นว่า “ผู้หญิง” มีบทบาทในสังคมมากขึ้น ด้วยการก้าวเข้าสู่สายงานด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม รวมไปถึง การก้าวสู่การเป็น “สตาร์ทอัพ” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เนื่องจากอาชีพและธุรกิจดังกล่าวเป็นงานในอุดมคติ และเป็นโอกาสในการประสบความสำเร็จที่มีมากกว่าอาชีพทั่วไป
ในงานเสวนา “The Rise of Female Startups & Innovators : สตรียุคใหม่กับบทบาทผู้นำด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรม” จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เผยถึงข้อมูลด้านการเติบโตของผู้หญิงในธุรกิจและผู้นำด้านนวัตกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้มีผู้หญิงก้าวเข้าสู่กลุ่มธุรกิจดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ สัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น บวกกับสังคมและองค์กรยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้หญิงก้าวเข้ามามีบทบาทในด้านดังกล่าวมากขึ้น ด้วยการส่งเสริมทั้งการเปิดเวทีให้ผู้หญิงได้แสดงความสามารถ การก่อตั้งกองทุน การประชาสัมพันธ์ผู้หญิงต้นแบบ พร้อมลดการจำกัดความว่าผู้หญิงเหมาะสมกับอาชีพไม่กี่ประเภท
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาททั้งทางด้านธุรกิจ เทคโนโลยี ผู้นำสังคม รวมทั้งการเมืองการปกครองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากการผลักดันของหน่วยงาน องค์กร และความพยายามของผู้หญิงที่มุ่งเข้าสู่แวดวงดังกล่าว พร้อมด้วยการสร้างพื้นที่ให้แสดงออกถึงศักยภาพที่เท่าเทียมกับเพศอื่นๆ จนทำให้ในปัจจุบันได้เริ่มปรากฏให้เห็นถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีผู้นำองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นเพศสตรีทั้งในระดับภาครัฐ และเอกชนในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้ถึงสังคมที่มีความเปิดกว้างและเท่าเทียม ตลอดจนอิทธิพลในการสร้างแรงกระเพื่อมต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้ไม่แพ้กับเพศอื่นๆ มีปรากฏในประชาคมโลก
“สายงานหนึ่งที่มีการเติบโตของผู้หญิง คือสายงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เห็นได้ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีผู้หญิงเริ่มเข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ต่อเนื่องถึงความสนใจในการเข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยี และการผันตัวเป็นสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Booking.com ซึ่งบริษัทอีคอมเมิร์ซด้านการเดินทางและผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลได้เผยผลการสำรวจว่า ผู้หญิงหลายคนให้ความเห็นว่าการได้ทำงานด้านเทคโนโลยีนั้นจัดเป็นงานในฝัน หรืออาชีพในอุดมคติ โดยผู้หญิงทั่วโลกกว่า 4 ใน 5 ให้คำจำกัดความของงานในฝันว่าเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองร้อยละ 84 รองลงมาคือการได้ทำงานที่ตรงความสามารถร้อยละ 83 และเป็นงานที่เลือกเส้นทางได้ด้วยตัวเอง ร้อยละ 81 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกเช่น โอกาสในการประสบความสำเร็จที่มีมากกว่าอาชีพทั่วไป และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีทางรอด สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ”
ทั้งนี้ NIA พบว่าการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น มีสัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่มมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจโดยสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมทุน (Thai Venture Capital Association : TVCA) พบว่า มีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่เป็นผู้หญิงประมาณ 17 % โดยมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างหลากหลายและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมด้านบริการ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ นวัตกรรมเพื่อการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมด้านไลฟ์สไตล์ สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค และตอบโจทย์คุณค่าที่สังคมและภาคเศรษฐกิจต้องการ โดยเฉพาะในการช่วยเพิ่มการจ้างงาน และเป็นส่วนช่วยผลักดันนโยบายภาครัฐที่มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
ด้าน นางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ข้อดีการที่ผู้หญิงเข้ามาทำงานในแวดวงนวัตกรรมเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ รวมทั้งบทบาทผู้นำองค์กรคือการเติมเต็มให้บริษัทและหน่วยงานนั้นสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้หญิงค่อนข้างมีพื้นฐานเรื่องการเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย มีการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้ค่อนข้างสูง ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก เพราะแทบทุกองค์กรโดยเฉพาะองค์ด้านนวัตกรรมต้องใช้คนขับเคลื่อนเป็นหลัก
ดังนั้นในแง่ของการบริหารจัดการ การรับมือ รวมไปถึงการแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กร ผู้หญิงมักจะมีสติและมีแนวโน้มที่จะสามารถรับมือได้ดีกว่าผู้ชาย จึงทำให้ส่วนใหญ่การจัดการปัญหามักมีความยืดหยุ่น สามารถลดสภาวะความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะมีข้อดีดังกล่าว แต่การทำงานในแต่ละองค์ก็ยังจำเป็นจะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายอย่างละเท่าๆกัน เพราะจะส่งผลให้การทำงานลงตัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากแต่ละเพศย่อมมีความโดดเด่น มีความสามารถเฉพาะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากัน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะช่วยสร้างประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมได้อย่างสมดุล