ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รุกคืบ! “ประกันภัย” เพื่อคนจน มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรไทยและผู้มีรายได้น้อย


ปัจจุบันระบบการเข้าถึงความคุ้มครองเกี่ยวกับการประกันภัยของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรไทยถือว่ามีน้อยมาก ซึ่งที่ผ่านมาทางหน่วยงาน คปภ. หรือคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เล็งเห็นและพยายามผลักดันในระบบการประกันภัยให้ครอบคลุมความคุ้มครองไปยังทุกกลุ่ม โดยที่ผ่านมาได้ออกมาตรการต่างๆ ในการที่เข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยลำไย หรือที่เรียกว่าประกันภัยพืชผล หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการอีกว่า ไมโครอินชัวรันส์ (Micro Insurance) หรือประกันภัยสำหรับรายย่อยนั่นเอง

ล่าสุด ทาง คปภ. นำโดย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย พร้อมคณะได้เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบการจัดการประกันภัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ณ สาธารณรัฐอินเดีย เมื่อวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยได้มีการหารือร่วมกันพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านธุรกิจประกันภัย ซึ่งอินเดียถือเป็นประเทศที่ตลาดด้านประกันภัยมีความน่าสนใจ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,356 ล้านคน เบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 99,838 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รวมทั้งมีอัตราการเติบโตในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ และกว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด เป็นผู้มีรายได้น้อยและอาศัยในพื้นที่เกษตรกรรม การประกันภัยรายย่อยและการประกันภัยเกษตรกรรมจึงมีความสำคัญมาก โดยรัฐบาล และ The Insurance Regulatory and Development Authority of India (IRDAI) หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสาธารณรัฐอินเดีย ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยระบบประกันภัย

ทั้งนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่สำคัญในอินเดีย รวมไปถึงโครงสร้างตลาดประกันภัย โดยประกันภัยรถยนต์ ประกันสุขภาพ และประกันเกษตรกรรม มีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด ปัจจุบันประกันสุขภาพมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประกันภัยประเภทอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลอินเดียได้ดำเนินโครงการ National Health Protection Scheme (Ayushman Bharat) เพื่อให้ความคุ้มครองด้านการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยจะเข้าไปรับประกันสุขภาพให้แก่ประชากรแต่ละรัฐ และรัฐบาลของรัฐจะให้การสนับสนุนเบี้ยประกันภัย นอกจากนี้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการประกันภัย IRDAI ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อผู้มีรายได้น้อย เช่น Micro insurance และ Rural insurance เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่มีความจำเป็นและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

นอกจากนี้ ได้หารือเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและให้บริการแก่ลูกค้า โดย USGI ได้มีการพัฒนาระบบ Chatbot เพื่อเพิ่มช่องการการติดต่อและให้ข้อมูลแก่ลูกค้า การพัฒนาระบบ Portal สำหรับตัวแทนของบริษัท เพื่อให้บริการด้านข้อมูลแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างระบบสื่อสารกับลูกค้าผ่านระบบ Whatsapp ซึ่งเป็นสื่อโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมในสาธารณรัฐอินเดีย และในโอกาสเดียวกันนี้ ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของ USGI สาขาเมืองพุทธคยา เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมเข้าถึง และช่องทางการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในเมืองนี้อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

การเดินทางไปสาธารณรัฐอินเดียในครั้งนี้ เลขาธิการ คปภ. และคณะฯ ยังได้หารือร่วมกับ Mr. Anjan Dey, General Manager บริษัท New India Assurance บริษัทประกันวินาศภัยรายใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งมีเครือข่ายและสำนักงานสาขาในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยมีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัย และการเข้าถึงระบบการประกันภัยให้กับประชาชนกว่าล้านรายในอินเดียโดยบริษัทได้มีการจัดตั้งสำนักงานในรูปแบบ Micro office หรือ one-man office ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้บริการด้านการประกันภัย รวมถึงเสนอขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการผ่าน Common Service Center ซึ่งเป็นสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ในเขตชนบททั่วประเทศที่ระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตยังไม่เพียงพอ เพื่อให้บริการต่างๆ ทั้งเรื่องสวัสดิการสังคม สวัสดิการด้านสุขภาพ รวมถึงบริการด้านการเงิน และการประกันภัย ซึ่งมีกว่า 100,000 แห่งทั่วประเทศ

ในโอกาสเดียวกันนี้ ได้หารือร่วมกับ ผู้บริหารของบริษัท Munich Re สาขาสาธารณรัฐอินเดียที่นครมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย เกี่ยวกับการประกันภัยเกษตรกรรม และ Digital ecosystem เนื่องจากประชากรอินเดียกว่า 200 ล้านคนประกอบอาชีพเกษตรกร และผลผลิตภาคเกษตรกรรมคิดเป็นร้อยละ 16 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ดังนั้นการประกันภัยเกษตรกรรมจึงมีความสำคัญมาก และรัฐบาลได้ออกหลายมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ Prime Minister’s Fasal Bima Yojana scheme (PMFBY) เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เกษตรกร และส่งเสริมให้นำนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตร โดยกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยคงที่สำหรับพืชผลแต่ละชนิด เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยบางส่วน ระหว่างร้อยละ 1.5 ถึง 5 และส่วนที่เหลือรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2564 จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งความท้าทายของการประกันเกษตรกรรมในสาธารณรัฐอินเดีย คือ ความหลากหลายของพืชผลในแต่ละพื้นที่และฤดูการเพาะปลูก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดทำประกันภัยที่เป็นมาตรฐาน และต้นทุนในการสำรวจภัยด้วยบุคคลยังค่อนข้างต่ำ จึงยังคงใช้ระบบการประเมินผลผลิต (Yield based approach) มากกว่าระบบพาราเมทริกซ์ (Parametric based approach)

 

นอกจากนี้ ระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัล (Digital ecosystem) ของสาธารณรัฐอินเดียมีความน่าสนใจมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้สมาร์ทโฟน 337 ล้านคน ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 560 ล้านคน และประชากรร้อยละ 80 มีบัญชีธนาคาร ดังนั้นจึงเอื้อให้การทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ช่องทางดิจิทัลกลายเป็นช่องสำคัญสำหรับธุรกิจประกันภัย และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การประกันภัยโทรศัพท์มือถือ การประกันการล่าช้าของเที่ยวบิน และประกันการยกเลิกการแสดงต่างๆ เป็นต้น

“การเข้าร่วมดูงานและหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาการต่าง ๆ ด้านประกันภัย ซึ่งธุรกิจประกันภัยของสาธารณรัฐอินเดียมีลักษณะที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยด้านเกษตรกรรมและประกันสุขภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อประชากรในประเทศ โดยภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ระบบการประกันภัยเข้าไปช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และรองรับความเสียหายให้กับเกษตรกรในประเทศ ด้วยการดำเนินมาตรการและโครงการต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการประกันภัยของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย