โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เปิด 6 เทคนิค เริ่มต้นธุรกิจ “ร้านอาหาร” บนแพลตฟอร์ม “เดลิเวอรี่”

ในช่วงที่ผู้คนงดออกจากบ้านช่วยชาติ หรือ Social distancing เพื่อลดการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์อันดับต้นๆ คือ การรับส่งอาหารและสินค้าไปยังบ้านเรือนต่างๆ หรือที่เรียกว่า “เดลิเวอรี่” ได้รับความนิยมอย่างมาก จากกระแสข่าวที่หลายคนหันมาคว้าโอกาสสร้างรายได้เสริมในยามยากมาเป็นพนักงานรับส่งอาหารโกยรายได้ร่วม 50,000 บาทในระยะเวลาเพียง 15 วัน

เมื่อกระแสธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับการตอบรับดีเช่นนี้ ร้านอาหารขนาดเล็ก จึงน่าจะถือโอกาสนี้ผูกบริการรับส่งอาหารผ่านแอบพลิเคชั่นต่าง เช่น LINE MAN Grab Food Panda Lalamove ฯลฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในส่วนของ LINE MAN นั้น นางสาววรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN เผยว่า ที่ผ่านมา LINE MAN ได้สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารในทุกระดับให้เติบโตในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะโมเดลความร่วมมือระหว่างร้านอาหารที่ต้องการขายบนแอปฯ LINE MAN นั้นเปิดกว้างตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งร้านอาหารต่างๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะขายบนแอปฯ โดยสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น Wongnai Merchant App (WMA) ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น ทำให้มีร้านอาหารใหม่เพิ่มเข้ามาถึงประมาณ 3 – 5 เท่าหรือมากกว่าประมาณ 15,000 ร้านในช่วงที่ผ่านมา (22 – 31 มีนาคม) โดยร้านค้ามีสิทธิเลือกเข้าร่วมโปรแกรมพันธมิตร GP (Gross Profit) เพื่อทำการตลาดร่วมกันบนข้อตกลงที่สร้างความพึงพอใจให้กับร้านค้าและบริษัทฯ ขณะเดียวกันได้พัฒนาฟีเจอร์ Self Pick-up สำหรับลูกค้าให้สามารถสั่งอาหารผ่านแอปฯและไปรับที่หน้าร้านด้วยตนเองโดยไม่เสียค่าสั่ง โดย LINE MAN จะไม่หักค่าธรรมเนียมใดๆจากออเดอร์นั้น แม้จะเป็นร้านพันธมิตรประเภท GP ก็ตามในเวลานี้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทั้งลูกค้าและร้านอาหาร และยังได้เร่งขยายร้านอาหารที่รับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เพื่อช่วยร้านอาหารให้มีวิธีการชำระเงินที่ครบครัน และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้”

พร้อมกันนี้ ทาง LINE MAN ยังได้ประมวล 6 เทคนิคพื้นฐานเพื่อเป็นทิศทางและสร้างความมั่นใจในการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารบนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ดังนี้

1.สร้างจุดเด่นให้ร้าน นำเสนอเมนูให้โดน

ท่ามกลางร้านอาหารจำนวนมาก ทั้งแบรนด์ใหญ่แบรนด์เล็กที่ผ่านตาลูกค้าวันละหลายๆร้าน การทำให้ร้านมีจุดเด่นและน่าสนใจเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ประกอบการต้องสามารถดึงจุดเด่นของแบรนด์และเมนูผ่านการสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ แม้จะเป็นเมนูธรรมดาก็ตาม ตั้งแต่ความพิเศษของวัตถุดิบ วิธีการปรุง รสชาติ ที่มาของเมนู รวมไปจนถึงการนำเสนอที่น่าสนใจ เชิญชวนให้ลูกค้าถ่ายรูปและบอกต่อบนโลกโซเชียล เป็นการโปรโมทร้านต่อไปเป็นทอดๆโดยไม่ต้องลงทุนด้านสื่อ

2.รู้จักกลุ่มเป้าหมาย

ไม่เพียงแค่รู้ว่าจะขายอะไร แต่ต้องรู้ว่าร้านจะขายให้กับใคร กลุ่มลูกค้าประเภทไหนที่จะเป็นผู้จ่ายเงินซื้ออาหารจากร้านเรา ข้อนี้เปรียบเสมือนอีกจุดเริ่มต้นข้อแรกๆที่ร้านจะต้องทำการบ้าน ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเกี่ยวข้องกับการคิดเมนูและการวางราคาที่เหมาะสมให้สอดคล้องด้วยเช่นกัน

3.ไม่จำเป็นต้องมีหลายเมนู

หากร้านของคุณไม่ใช่ร้านอาหารที่ลูกค้าคุ้นเคยกับสั่งหลากหลายเมนูอยู่แล้ว การมีเพียงไม่กี่เมนูนั้นเป็นอีกกลยุทธ์ที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นขายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่ เริ่มต้นจากการเน้นขายเมนูซิกเนเจอร์ของร้านเพียง 1-3 เมนู จะช่วยให้ร้านเป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้าได้ง่ายขึ้น อาจจะถามตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “อยากให้คนรู้จักร้านเราจากเมนูอะไร” ทั้งนี้ การขายเพียงไม่กี่เมนูยังช่วยควบคุมต้นทุน และทำให้บริหารวัตถุดิบได้ดีอีกด้วย

4.โปรโมชั่นสำหรับเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ

พฤติกรรมของการสั่งเดลิเวอรี่นั้นแตกต่างจากการสั่งทานหน้าร้าน การมีโปรโมชั่นที่รองรับพฤติกรรมและความต้องการการทานที่บ้าน จะยิ่งช่วยดึงดูดลูกค้าและช่วยเพิ่มยอดขายได้ไม่ยาก เช่น เมนูเสริมในราคาพิเศษ เพื่อเชิญชวนให้สั่งไปทานคู่กับเมนูหลัก หรือ การจัดชุดเมนูที่สามารถทานได้ทั้งวัน ก็ต่างเป็นสิ่งที่ลูกค้าเดลิเวอรี่ส่วนใหญ่ต้องการ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องจำเป็นต้องอยู่บ้านตลอดทั้งวันแบบนี้

5.เมนูและปริมาณที่เหมาะสม

ไม่ใช่ทุกเมนูจะเหมาะกับการจำหน่ายผ่านบริการเดลิเวอรี่ เพราะบางเมนูมีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมคุณภาพของอาหาร อาจจะขนส่งไม่สะดวกและเหมาะกับการทานที่ร้านมากกว่า เช่น ร้านชาบู - ปิ้งย่าง สามารถพลิกแพลงนำวัตถุดิบที่มีมาปรับเป็นเมนูผัดหรือต้มสำเร็จรูปพร้อมทาน หรือร้านที่มีเมนูขนาดใหญ่ ก็สามารถปรับให้เหมาะกับการทาน 1-2 คน เพื่อให้สะดวกต่อการทานและขนส่ง ง่ายต่อการตัดสินใจสั่ง และเพิ่มโอกาสการขายได้อีกด้วย

6.ใส่ใจ Packaging เพื่อเดลิเวอรี่

บรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับการเดลิเวอรี่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะต้องคำนึงถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการขนส่ง รักษาคุณภาพทั้งรสชาติและหน้าตาของอาหารที่อาจเปลี่ยนไปจากระยะเวลาการเดินทาง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงคุณภาพอาหารที่ยังคงที่เมื่อเปิดทาน โดยเฉพาะปัจจุบัน บรรจุภัณฑ์แบบ Reuse สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก หรือแบบที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ก็เป็นอีกข้อที่ร้านเดลิเวอรี่หันมาใส่ใจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม