โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เปิดเคล็ดลับธุรกิจ "ชานมไข่มุก" สร้างแฟรนไชส์อย่างไรให้อยู่รอด

ร้านชานมไข่มุก เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เกิดขึ้นไวมากในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดมีมูลค่าราวๆ 2.5-3 พันล้านบาท นั่นหมายถึงว่ามีการแข่งขันสูง การสร้างความแตกต่างถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด

โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจไปในรูปแบบของแฟรนไชส์จะต้องสร้างจุดแข็งให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับ วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะขอนำเสนอเคล็ดลับธุรกิจ "ชานมไข่มุก" สร้างแฟรนไชส์อย่างไรให้อยู่รอด หรือเป็นตัวช่วยตัดสินใจก่อนที่จะเริ่มลงทุน

1.สร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่น

การสร้างเอกลักษณ์และจุดเด่นของสินค้าให้ผู้บริโภคจดจำได้และกลับมาซื้อซ้ำ จุดเด่นของชานมอยู่ที่ท็อปปิ้งอย่างไข่มุก แต่ละร้านก็มีการคิดสูตรไข่มุกเป็นของตัวเองให้มีรสชาติและรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ยังมีตัวชานมซึ่งมาจากการคัดสรรและดัดแปลงวัตถุดิบให้มีรสชาติอร่อย กลิ่นหอมเฉพาะตัวเมื่อได้ดื่ม รวมถึงความใส่ใจในกระบวนการต้มและชง บรรจุภัณฑ์ที่มีการออกแบบให้น่าถือและสะดวกต่อการดื่มมากขึ้น


2.แบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน

หากแบ่งตลาดออกเป็นกลุ่มก็จะช่วยทำให้มองเห็นลูกค้าเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ซึ่งพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ

  • Mass ราคาขายต่ำกว่า 40 บาท คิดเป็นประมาณ 20% ของมูลค่าตลาดโดยรวม ซึ่งกลุ่มนี้เน้นที่ราคาสบายกระเป๋า สามารถซื้อได้ทุกวัน สินค้ามีวางจำหน่ายโดยทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย ไม่ได้คำนึงถึงรูปแบบของหน้าร้านมากนัก
  • Medium ราคาขายระหว่าง 40-75 บาท กินส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60% ของมูลค่าตลาดโดยรวม กลุ่มนี้เน้นกลุ่มคนที่พอจะมีกำลังซื้อ ต้องการความแปลกใหม่ตามกระแสนิยม พร้อมกับรสชาติอร่อยและความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์
  • Premium ราคาขายมากกว่า 75 บาท คิดเป็นประมาณ 10% ของมูลค่าตลาดโดยรวม โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นแบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งเน้นคุณภาพของวัตถุดิบและกระบวนการ เพื่อให้ได้ความแปลกใหม่ รสชาติอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งจากตัวชานมและไข่มุก มีการออกแบบตกแต่งหน้าร้านให้น่านั่ง สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ผู้บริโภคมีความภูมิใจเมื่อได้ถือสินค้า และอยากมาซื้อซ้ำอีก 

(ข้อมูลจาก The Standard: https://thestandard.co/the-alley-bubble-tea-market/​)

3.เลือกทำเลและรูปแบบร้านให้สะดุดตา

เมื่อเราตัดสินใจได้แล้วว่าจะจับตลาดกลุ่มไหน ก็ควรเลือกทำเลที่ตั้งของร้านให้ตรงกับกลุ่มผู้บริโภค เพื่อเข้าถึงได้ง่าย ออกแบบหน้าร้านที่สะดุดตาเห็นได้ชัด เป็นจุดเช็คอินสวยๆ อาทิเช่น หากต้องการลูกค้าในกลุ่ม Mass ก็ควรจะมีหน้าร้านในย่านชุมชน เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า กลุ่ม Medium อาจจะมีหน้าร้านใกล้กับสำนักงานหรือสถาบันอุดมศึกษา ส่วนกลุ่ม Premium น่าจะมีหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในตัวเมืองหรือตัวจังหวัด

4.ศึกษารูปแบบคู่แข่งในตลาด​

ผู้ประกอบการหลักๆ ในตลาดปัจจุบันพอจะแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ คือ

  1. ผู้ประกอบการที่สร้างแบรนด์เอง ซึ่งจะต้องทำและคิดเองทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ โดยสามารถออกแบบและควบคุมต้นทุนและสินค้าได้ตามที่ต้องการ แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์และอาจจะต้องเหนื่อยในช่วงแรก ถ้าประสบความสำเร็จอาจทำให้เราเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ในอนาคต
  2. ผู้ประกอบการที่ซื้อแฟรนไชส์ สำหรับใครที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จะเลือกการลงทุนโดยซื้อแฟรนไชส์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งมีข้อดีคือแบรนด์เป็นที่รู้จักในตลาดแล้ว อุปกรณ์และวัตถุดิบมีเจ้าของแฟรนไชส์ช่วยจัดเตรียมให้ และพร้อมให้คำแนะนำเราได้ตลอดเวลา

5.ศึกษาเรื่องเงินลงทุนที่ต้องใช้

สำหรับผู้ที่จะเริ่มลงทุนที่ยังไม่มีประสบการณ์ ขอแนะนำว่าการจับตลาดกลุ่ม mass น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ซึ่งตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจที่ควรให้ความสนใจ มีดังนี้

  • หากลงทุนในแบบที่สร้างแบรนด์ด้วยตัวเอง เงินลงทุนเริ่มต้นโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท ประกอบด้วยค่าตกแต่งร้านขนาดเล็ก 15,000-20,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 20,000-25,000 บาท และค่าวัตถุดิบ 5,000 บาทในเดือนแรก
  • ส่วนใครสนใจอยากลงทุนแบบแฟรนไชส์ เงินลงทุนเริ่มต้นโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 – 250,000 บาท โดยควรคำนึงถึงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าส่วนแบ่งการตลาด แบรนด์ติดตลาดหรือไม่ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือดูแลจากเจ้าของแฟรนไชส์ เป็นต้น

หากวิเคราะห์ความเป็นไปได้และโอกาสแล้ว หากสนใจอยากจะลงทุนธุรกิจชานมไข่มุก แต่ติดปัญหาสำคัญคือจะหาแหล่งเงินทุนจากที่ไหนดี แนะนำว่าลองมองเงินทุนของตนเองที่พร้อมจะนำมาลงทุนก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีเหลือๆ ก็สบายใจได้ แต่ถ้ายังไม่พอ การขอวงเงินสินเชื่อกับธนาคารก็เป็นทางเลือกหนึ่ง

ซึ่งผลิตภัณฑ์สินเชื่อก็มีหลากหลาย สำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ใช้เงินทุนไม่มากนัก หลักประกันไม่ต้องใช้ก็มีหลายทางเลือก เช่น สินเชื่อบุคคล สินเชื่อรถช่วยได้ เป็นต้น ส่วนจะใช้ผลิตภัณฑ์ไหนก็มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจ โดยควรขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญหรือธนาคารที่เราสนใจใช้บริการ

ทั้งนี้ไม่ว่าจะลงทุนในธุรกิจใด หรือใช้เงินลงทุนจากแหล่งไหน สิ่งสำคัญคือ ความตั้งใจจริงและพยายามที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายโดยไม่ย่อท้อ การรู้ตัวเองและสภาพแวดล้อมเพื่อหาจังหวะที่เหมาะสม

โดยไม่จำเป็นต้องรีบร้อนหากเห็นความเสี่ยงอยู่ข้างหน้า และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : kasikornbank