โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เกษตรทางเลือก “ผักกูด” ผักพื้นบ้านหากินยาก สร้างรายได้ฝ่าวิกฤตหลักพันบาท

เชื่อว่าหลายคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะต้องรู้จัก “ผักกูด” ผักพื้นบ้านที่ปัจจุบันมีการปลูกน้อยมากและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ด้วยรสชาติที่อร่อยสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะตามร้านอาหารต่างๆ มักจะมีเมนูที่มีผักชนิดนี้เป็นวัตถุดิบหลักอยู่ด้วยเสมอ ที่สำคัญยังเป็นผักที่ปลูกง่ายเหมาะอย่างยิ่งที่จะปลูกสร้างรายได้เสริมในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่นนี้

ผักกูด [Diplazium esculentum (Retz.) Swartz] เป็นพืชตระกูลเดียวกับเฟิร์น ลักษณะของต้นผักกูดจะขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 50-100 เซนติเมตร รากแตกฝอยเป็นกระจุกใหญ่ ก้านใบแตกจากเหง้าใต้ดิน ใบยาว 50-100 เซนติเมตร ส่วนของยอดอ่อนปลายยอดม้วนงอแบบก้อนหอยและมีขน เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่เป็นดินร่วนปนทราย ในสภาพมีความชื้นสูง แสงแดดไม่ร้อนจัดเกินไป คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผักกูดจะต้องปลูกในพื้นที่มีฝนตกชุกและความชื้นค่อนข้างสูง อย่างภาคใต้และภาคตะวันออก แต่จากการศึกษาพบว่า การปลูกผักกูดให้ได้ผลผลิตที่ดีต้องปลูกในสภาพแสงแดดรำไรและมีความชื้นสูง หากปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตก็สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาคของประเทศไทย

รูปแบบของการปลูกผักกูดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1.ปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่น ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมปลูกร่วมกับกล้วย หรือไม้ผลยืนต้น

2.ปลูกภายใต้ร่มเงาตาข่ายเพื่อพรางแสง ซึ่งสามารถพรางแสงได้ตั้งแต่ 50-60 เปอร์เซ็นต์

สำหรับระยะปลูกที่ใช้ระหว่างแถวและระหว่างต้น 50 เซนติเมตร การดูแลรักษาเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก โดยใส่ประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ทุก ๆ 3 เดือน/ครั้ง ร่วมกับการพ่นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดน้ำ 1-2 ครั้ง/เดือน ในช่วงที่เริ่มเก็บผลผลิตแล้ว จะช่วยให้ได้ต้นมีการเจริญเติบโตและผลผลิตดีขึ้น

หลังปลูกผักกูดประมาณ 6-8 เดือน จึงเริ่มเก็บผลผลิตได้ โดยเก็บส่วนยอดความยาว 25-30 เซนติเมตร ผลผลิตที่ได้เฉลี่ยประมาณ 200 กิโลกรัม/ไร่/เดือน นอกจากนี้ผักกูดไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน การปลูกจึงไม่มีการใช้สารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง จึงเหมาะอย่างยิ่งในการผลิตเป็นพืชผักปลอดสารพิษ

“ผักกูด” เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางด้านอาหาร โดยมีสารเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็กปริมาณสูง สามารถช่วยบรรเทาโรคโลหิตจางและบำรุงเลือดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังช่วยในเรื่องการระบายเพราะเป็นผักที่มีเส้นใยสูง รับประทานได้ทั้งสดและปรุงเป็นอาหาร เช่น ลวกหรือต้มจิ้มกับน้ำพริก ผักกูดต้มกับกะทิ ยำผักกูด ผัดผักกูดไฟแดง แกงส้ม และแกงเลียง เป็นต้น

ปัจจุบันราคาขายของผักกูดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งรายได้จะมากหรือขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่ที่ใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 ไร่จะสามารถเก็บผักกูดส่งขายได้มากกว่า 10-15 กิโลกรัม ซึ่งนั่นก็หมายถึงผู้ปลูกจะมีรายได้งามๆ วันละประมาณ 600-1,000 บาท ถือว่าช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด- 19 ได้ดีทีเดียว

ที่มา : วว.แนะวิธีปลูกผักกูดขายฝ่าวิกฤต สร้างรายได้ 600-1,000 บาท ปลูกง่าย มีคุณค่าอาหารสูง