ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

รายใหญ่ ต้องช่วย รายเล็ก ทางรอดของ เอสเอ็มอีไทย ในยามวิกฤต


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เผยจากการวิเคราะห์แนวทางช่วยเหลือ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พบว่าในแง่มุมของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ธุรกิจรายใหญ่สามารถอัดฉีดสภาพคล่องให้ SME ในโมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไหลเข้าเร็วขึ้นเฉลี่ย 1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือ 3,500 บาทต่อราย เพิ่มเติมจากที่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการภาครัฐและสถาบันการเงินในขณะนี้ เพื่อช่วยให้ SME อยู่รอดและไปต่อได้ ที่สำคัญช่วยรักษาการจ้างงานที่มีอยู่เกือบ 12 ล้านคนทั่วประเทศ

เยียวยา SME ไม่เพียงเพื่อ SME อยู่รอด แต่เป็นการช่วยเหลือการจ้างงานของครัวเรือนในทุกภาคของประเทศ

จากการที่ SME มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านการผลิต SME เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย ที่สำคัญเป็นฐานผลิตสินค้าขั้นกลางป้อนธุรกิจรายใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออกสอดคล้องกับผลผลิตจาก SME คิดเป็น 42.4% ของผลผลิตรวม หรือ GDP ในขณะเดียวกัน SME มีบทบาทอย่างมากต่อการจ้างงานของประเทศ เนื่องจาก SME ที่มีการจดทะเบียนทั้งประเทศกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานจำนวนมากประมาณ 12 ล้านคน กระจายอยู่ทั้งภาคบริการ (3.9 ล้านคน) ภาคการค้า (3.8 ล้านคน) และภาคการผลิต (3.4ล้านคน)

โดยธุรกิจบริการที่มีการจ้างงานสูงๆ เป็นธุรกิจร้านอาหาร ที่พัก การบริการด้านธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ในส่วนภาคการค้ามีการจ้างงานสูงและกระจายตัวทั่วประเทศในธุรกิจขายปลีก ขายส่ง การซ่อมยานยนต์ และสำหรับภาคการผลิตที่มีการจ้างงานสูงๆ อยู่ในภาคก่อสร้าง ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การผลิตเครื่องแต่งกาย จากการที่ SME เป็นฐานรองรับการจ้างงานส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้การอยู่รอดของ SME มีผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนของประเทศ

เปิดโมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” เติมสภาพคล่อง SME ได้ 1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน

ณ ขณะนี้ มาตรการการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง SME หลักๆ เป็นการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารรัฐ และล่าสุดคือการออกพ.ร.ก.ปล่อยกู้ 5 แสนล้านของธปท.ให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยกู้ต่อแก่ SME นั้น TMB Analytics มองกลไกความช่วยเหลือที่เกิดจากผู้ประกอบการด้วยกันเองในซัพพลายเชน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้สภาพคล่อง SME ดีขึ้นได้ โดยใช้โมเดล “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” กล่าวคือ ธุรกิจรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคบริการ ล้วนมีซัพพลายเออร์ส่วนใหญ่เป็น SME ซึ่งการจ่ายเงินแบบมีระยะเวลาการจ่าย (Credit Term) หรือเป็นเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจ (Account Payable) แทนการจ่ายสดทันทีที่ได้รับสินค้า หากรายใหญ่ในทุกภาคธุรกิจ

ช่วยเหลือ SME โดย “เปลี่ยนจากจ่ายเชื่อเป็นจ่ายสด” ให้เร็วขึ้น

ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลงบการเงินธุรกิจ พบว่าเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจรายใหญ่รวมกันอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท หากธุรกิจรายใหญ่จ่ายเป็นเงินสดให้ลูกค้ารายเล็กเร็วขึ้น 1 วัน จะทำให้ SME มีเงินสดหมุนเวียนในธุรกิจในภาพรวมถึง 1.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน หรือราว 3,500 บาทต่อราย โดย SME ภาคการผลิตได้รับเร็วขึ้น 8,717 บาทต่อคนต่อวัน ภาคการค้า อยู่ที่ 2,466 บาทต่อคนต่อวัน และภาคบริการ 1,543 บาทต่อคนต่อวัน นั่นหมายถึง “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก” จะช่วยทำให้ SME ได้รับเงินสดเร็วขึ้นกว่าปกติเพื่อนำไปใช้ในการหมุนเวียนและเป็นสภาพคล่องในธุรกิจ เพื่อให้อยู่รอดสามารถรักษาการจ้างงานได้ต่อไป และพร้อมที่จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น