ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เปิดใจ มัคคุเทศก์หนุ่ม เจอพิษโควิด-19 ผันชีวิตมาขับแกร็บส่งอาหารหารายได้เลี้ยงตัวเอง


จากพิษภัยของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงไป ทั้งได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง ต้องกลายเป็นคนตกงาน ไม่ว่าตำแหน่งหน้าที่การงานจะสูงหรือเงินเดือนมากมายขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องอยู่ในสถานะเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ใครจะยอมรับและดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้มากกว่ากัน

ชวลิต แซ่จัง มัคคุเทศก์หนุ่มที่พ่วงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง ก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจากหลายคน แต่เขาเลือกที่จะยอมรับและปรับตัวหันมารับงานเป็นหนุ่มแกร็บทำหน้าที่รับสั่งและส่งอาหารให้กับลูกค้า โดยหันมารับงานอย่างจริงจังได้เกือบสองเดือนแล้ว จากที่เคยตื่นเช้าไปทำงานประจำในทุกๆ วัน กลับต้องพบกับบททดสอบชีวิตครั้งสำคัญ

“ชวลิต” เล่าว่า เดิมนอกจากทำงานในบริษัท เขายังรับหน้าที่เป็นไกด์ออกหน้างาน ทั้งงานต่างจังหวัดและต่างประเทศ ขายงานเอง และงานอื่นๆ เท่าที่จะทำได้ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าองค์กรและหน่วยงานต่างๆ แต่หลังจากธุรกิจเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ตอนนั้นก็เริ่มคิดแล้วว่าจะเอายังไงดี

“เพราะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องการการท่องเที่ยว จึงมีผลกระทบกับทางฝั่งจีน จนมีผู้ติดเชื้อในประเทศอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งต้นเดือนกุมภาพันธ์ผมต้องบินไปไต้หวัน ทั้งเราและลูกค้าที่ตัดสินใจกันอยู่นานมากว่าจะไปดีหรือไม่ ในที่สุดก็ตัดสินใจไปและมันก็เป็นทริปสุดท้ายของผม หลังจากนั้นทริปที่จองไว้คือยกเลิกหมดเลย จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม บริษัทก็แจ้งว่าพวกเราไม่ต้องเข้าออฟฟิศแล้ว ตอนที่รู้ข่าวก็เครียดเลย”

“ชวลิต” บอกว่า ช่วงแรกๆ เรียกว่าน็อค จากคนเคยทำงานสบายๆ ในห้องแอร์ เคยคิดจะขับแกร็บเป็นงานสำรอง คือรับงานแค่ระหว่างขี่รถกลับบ้าน จนสุดท้ายต้องมาทำจริงจัง แต่ก็ยังไม่ชิน เมื่อมาเจออากาศร้อนจัด แล้วก็ต้องตื่นเช้ามากแต่กลับบ้านดึกมากกว่าตอนทำงานออฟฟิศ เขาต้องปรับตัวปรับพฤติกรรมค่อนข้างมาก เตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดี ศึกษาวิธีการทำงานให้ดีขึ้น

“จริงๆ การขับแกร็บถือว่าเป็นอาชีพอิสระนะ ไม่ได้ให้ทำงานเป็นกะเหมือนแอปพลิเคชันอื่นๆ อยากจะพักเมื่อไหร่ก็พักได้ แต่คิดว่าถ้าคุณพักไปสักหนึ่งชั่วโมง งานคุณอาจหายไปตัวหนึ่งหรือสองตัวเลยนะ อย่างขั้นต่ำของแกร็บคือ 40 บาท หายไปสองตัวก็ 80 บาท พอคิดอย่างนั้นผมเลยกลายเป็นคนจัดระเบียบชีวิตมากขึ้น เพื่อทำให้ได้ดีที่สุด เตรียมตัวให้ดีที่สุด เพื่อให้การขี่รถของเราไม่ขาดตอน”

เมื่อถามถึงสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ในครั้งนี้ “ชวลิต” ได้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า “ผมบอกตัวเองเรื่องปรับตัว คือเราล้มได้ แต่เราห้ามตายกับเหตุการณ์นี้ คนเราล้มได้ แต่จะลุกแล้วเดินต่อไปยังไงให้เร็วด้วยตัวเอง ที่ตัดสินใจขับแกร็บเต็มตัว เพราะคิดว่าถ้าไม่ทำ อยู่บ้านเฉยๆ แล้วค่าใช้จ่ายผมล่ะ ถ้าเราฟูมฟายไม่ทำอะไร ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำไฟผมล่ะ ค่าห้อง ค่ากินแต่ละวันจะทำยังไง ไม่มีใครช่วยเราได้ สุดท้ายเราต้องช่วยตัวเอง ผมไม่ได้บอกว่าสำหรับใครที่กำลังล้มให้มาขับแกร็บนะ แต่หมายถึงให้ลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้ที่คิดว่าเราทำได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องรอใคร”