โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ไขข้อสงสัย! ปัญหา “แฟรนไชส์” ขายดีแต่ทำไมไม่มี “กำไร” บกพร่องเรื่องไหน ไปดู

ปัญหาโลกแตกของธุรกิจแฟรนไชส์อีกข้อ คือ ยอดขายดีมาก และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า แต่ทำไมหนากำไรที่ควรจะได้กลับหายไปหมดแบบไม่รู้สาเหตุ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะให้คุณลองมองย้อนกลับมาดูที่สาเหตุกันว่า ทำไมขายดีแต่กำไรไม่เคยมีมา ดังนี้ค่ะ

1.ไม่ใส่ใจต้นทุน

ทุกธุรกิจต้องใส่เม็ดเงินลงทุน มีต้นทุนด้วยกันทั้งนั้น แต่เจ้าของมักจะละเลยในเรื่องนี้ เช่น ของเหลือทิ้งหลังร้านปิด หรือสั่งของมาเกินเป็นประจำ โดยเฉพาะวัตถุดิบที่เป็นของสดซึ่งเสียง่าย ดังนั้น การสั่งมาแบบพอดีพอขายในแต่ละวันจะช่วยลดเรื่องต้นทุนได้มาก

2.เอาเงินรายได้จากธุรกิจไปใช้ส่วนตัว

หลายครั้งที่เจ้าของร้านเลินเล่อ มักจะหยิบเอาเงินที่ได้จากการค้าการขายมาใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น ค่าบ้าน ค่ารถ หรือใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ดังนั้น จึงควรจัดแจงเงินเดือนของตัวเองกับหุ้นส่วนให้ชัดเจน หรือไม่ก็แบ่งกองเงินลงทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะให้ธุรกิจเสียหายเพราะเรื่องนี้ได้

3.ปล่อยเครดิตสินค้านานเกินไป

เจ้าของร้านหลายราย มักปล่อยเครดิตโดยใช้ระยะเวลานานเกินไป ทำให้ขาดเงินมาหมุนธุรกิจ มักจะเกิดปัญหานี้บ่อยกับกิจการที่มีรายได้จากดอกเบี้ยรับ เช่น ขายรถจักรยานยนต์แบบให้ผ่อน หรือกิจการที่มีเทอมการรับชำระเงินค่าสินค้าจากโมเดิร์นเทรดยาวๆ หลายเดือน ซึ่งมักจะพบปัญหาสภาพคล่องจากการขายสินค้าดี ยอดขายสูง แต่จะไปเจอกับปัญหาว่าเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องกู้เงิน ติดหนี้ระยะยาว ซึ่งต้องวางแผนรับมือให้ทันก่อนจะเกิดปัญหาแบบนี้

4.ผูกราคาขายล่วงหน้า แต่ควบคุมต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้

มักจะเกิดกับธุรกิจที่มียอดขายผูกสัญญากับลูกค้าไว้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่สนใจการหายอดขายใดๆ อาจเป็นเพราะเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการสูง หรือมีคู่แข่งน้อย แต่ก็มักจะพบปัญหาในการหาวัตถุดิบที่มีความเปลี่ยนแปลงของราคาได้ยาก เพราะต้นทุนมากขึ้น แต่ผูกขาดราคากับลูกค้าไว้แล้ว ฉะนั้นต้องแก้ไขด้วยการขยายพื้นที่รับซื้อวัตถุดิบ หาวัตถุดิบทดแทน และต้องเจรจากับคู่แข่งเพื่อซื้อวัตถุดิบ หาทางร่วมมือกันทางการตลาด

5.บริหารกำไรไม่เป็น

เมื่อมียอดขายและได้กำไร นำมาใช้ หรือนำมาปันผลแบ่งหุ้นส่วนแล้ว แต่ไม่ได้กันเงินสำหรับการลงทุนในกิจการ ไม่มีเงินทุนสำรองไว้เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน เวลายอดขายได้ไม่ตามเป้าเดิม ทำให้หมุนเงินไม่ทัน กลายเป็นต้องกู้ยืมหรือใช้เงินส่วนตัวมาหมุนในกิจการ

6.เกิดทุจริตคอรัปชั่น

ในร้านที่มีหุ้นส่วน และพนักงาน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไปไม่รอดมาหลายรายแล้ว หากระบบมีช่องโหว่ ทำให้คนทำงานมีหนทางในการทุจริตเงิน วัตถุดิบ สินค้า จนธุรกิจเสียหาย โดยไม่รู้ตัว ทำให้ต้นทุนกิจการสูงขึ้น กำไรน้อยหรือมาก ก็ได้ไม่คุ้มเสีย

7.ขาดที่ปรึกษาด้านการเงินที่ดี

ในปัญหาทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมานั้น จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก ถ้าผู้ประกอบการมีที่ปรึกษาด้านการเงินที่ช่วยวางแผนป้องกัน คอยดูตัวเลขและเตือนให้ผู้ประกอบการเห็นสถานะด้านต่าง ๆ ของธุรกิจ และต้องดูอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้วางแผนและแก้ปัญหาได้ตรงจุดก่อนจะเสียหายหนัก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซ่นส์