ปีนี้ข้อมูลจากกระทรวงแห่งการโรงแรมและการท่องเที่ยวของรัฐบาลคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวประมาณ 3 ล้านคน จะไปเยือนเมียนมาร์ นับเป็นยอดที่เพิ่มมากขึ้นถึง 50% จากเมื่อปี 2556 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวสองล้านคน และนับเป็นสามเท่าจากปี 2555 ที่มีนักท่องเที่ยวหนึ่งล้านคน
หลังจาก 49 ปีแห่งความโดดเดี่ยว การท่องเที่ยวของเมียนมาร์จำต้องทำงานอย่างหนักและรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงนับเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการรุ่นใหม่
นอกจากปัญหาในประเทศยังคงดำเนินอยู่ เช่น ความรุนแรงระหว่างชาวยะไข่พุทธกลุ่มใหญ่ และมุสลิมโรฮิงญาชนกลุ่มน้อย แต่นักธุรกิจส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงในภาคส่วนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมองอนาคตไปในทางบวก
Min Than Htut กระตือรือร้นที่จะอธิบายว่าทำไมเขาจึงตั้งชื่อบริษัททัวร์ของเขาว่า Pro Niti Travel คำว่า Pro ก็มาจากคำว่ามืออาชีพ (Professionalism) ส่วน Niti เป็นภาษาบาลี หมายถึง จริยธรรม
“ความเป็นมืออาชีพยังเป็นเรื่องที่หลายๆ คนในเมียนมาร์ยังไม่มีโอกาสที่จะพัฒนา” หนุ่มวัย 24 ปีกล่าว
Min Than Htut ใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง เขาเริ่มทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อสมัยที่เขาเรียนเคมี และได้งานเป็นพนักงานบริการในโรงแรม จากนั้นเขาก็กลายไปเป็นผู้ช่วยในบริษัทตัวแทนท่องเที่ยว ก่อนที่จะตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเองในย่างกุ้งเมื่อปีที่แล้ว
ตอนที่เริ่มก่อร่างสร้างบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวของตัวเอง Min ต้องเก็บหอมรอมริบและเข้าคอร์ส ตามหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (120 ปอนด์)
เขาเล่าว่า “ผมเรียนรู้ว่าการที่จะทำงาน (อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ผมต้องมีใบอนุญาตการท่องเที่ยว ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่สองเดือนเท่านั้น และการแข่งขันสูงมากครับ” Min ผ่านคอร์สนี้อย่างประสบความสำเร็จ ขณะนี้เขามีพนักงาน 4 คน พนักงานขับรถที่เรียกใช้บริการได้หนึ่งคน และเครือข่ายของไกด์ทัวร์ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาเอง
ความสำคัญของอินเทอร์เน็ต
นับตั้งแต่วันแรก Min รู้ดีว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดึงดูดลูกค้าที่มีศักยภาพจากทั่วโลก แต่นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเมื่อคุณอาศัยอยู่ในเมียนมาร์ ประเทศที่ติดอันดับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำที่สุดในโลก
ในปี 2555 ประชากรชาวเมียนมาร์ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มีเพียง 1% อ้างจากข้อมูลที่ศึกษาโดย Global Think Tank ที่ผ่านมา Min ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้เป็นของตนเอง เขาจึงต้องไปใช้บริการอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในท้องที่
“การเชื่อมต่อช้ามากครับ” เขาเล่า “บางครั้ง ผมใช้เวลาเกือบชั่วโมงตอบอีเมล์เพียงแค่ฉบับเดียว” ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคเรื่องความช้า แต่ Min กลับมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำความคุ้นเคยกับโลกออนไลน์ โดยเริ่มให้คำแนะนำฟรีในเว็บไซต์การท่องเที่ยวต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับเมียนมาร์ จนในที่สุดก็ได้นำเขาไปพบเจอกับลูกค้าคนแรก
วันนี้ Min สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับโทรศัพท์มือถือของเขาได้แล้ว และ Pro Niti Travel ก็มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง Min เล่าว่าเขามีลูกค้าหลายรายที่เกิดจากการบอกต่อ และต้องขอขอบคุณคอมเม้นต์ดีๆ จากเว็บไซต์รีวิวการท่องเที่ยวอย่าง TripAdvisor
“ผู้คนหลงลืมไปว่าการท่องเที่ยวเป็นตลาดอ้างอิง ดังนั้น คุณต้องมีการอ้างอิง”
กฎหมายการดื่ม
ขณะที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในเมียนมาร์เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากรัฐบาลได้ทำสัญญาสำคัญกับบริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ Tenenor และสัญชาติกาตาร์ที่ชื่อ Ooredoและเริ่มให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรงชาวเมียนมาร์ก็ยังคงร้องทุกข์เรื่องการเชื่อมต่ออยู่ดี
Ye Man Thu ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมขนาดกลางของครอบครัวในเมืองโบราณแห่งพุกาม บอกว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตล่มก็หมายถึงการจองโรงแรมในนาทีสุดท้ายอาจจะมาไม่ถึง อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ชายหนุ่มวัย 25 ปีคนนี้ให้ความสำคัญก็คือ เรื่องการผ่อนปรนกฎหมายใบอนุญาตของท้องถิ่น เพื่ออนุญาตให้เขาเปิดร้านอาหารและบาร์ได้หลังจาก 4 ทุ่ม เนื่องจากปัจจุบันกำหนดไว้เพียง 4 ทุ่มเท่านั้น แต่ไอเดียนี้อาจกระทบกับคนในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยวัดพุทธกว่า 2,000 แห่ง
“พวกเรามีปัญหานิดหน่อยกับเรื่องการขายเบียร์ครับ เพราะพวกเราอยู่ในพื้นที่ทางโบราณคดีที่ล้อมรอบด้วยศาสนาและวัฒนธรรม” เขากล่าว
“ตำรวจและเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้คนดื่มเบียร์ได้หลัง 4 ทุ่ม แต่สำหรับบางประเทศ นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมของเขา พวกเขาอยากจะพักผ่อน และแน่นอนว่าเรากำลังพูดถึงงานจำนวนมากสำหรับคนหนุ่มสาว และนักธุรกิจก็ให้การต้อนรับเรื่องนี้ด้วยครับ”
ทรัพย์สินราคาสูง
ในย่างกุ้งเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาร์ หลังจากที่ยกเลิกการคว่ำบาตรชาติตะวันตกนักลงทุนชาวต่างชาติไหลบ่าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การก่อสร้างมีมากขึ้นและราคาของทรัพย์สินก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน สำหรับ Bo สาววัย 28 ปี เรื่องนี้ทำให้เธอต้องดิ้นรนมองหาทำเลที่เหมาะสมที่จะเปิดร้านอาหารไทยให้ได้
Bo มีพื้นเพมาจากรัฐมอญในภาคใต้ของเมียนมาร์ เธออยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 14 ปี ก่อนที่จะกลับบ้านเกิดเพื่อเปิดร้านอาหารในปี 2556 เธอไปสำรวจพื้นที่และพบว่ากว่า 100 แห่ง มี “ราคาแพงเกินไป” ก่อนที่จะหาสถานที่ที่เหมาะสมได้แต่ก็ยังคงคิดว่าราคาแพงเกินไปอยู่ดี
“ฉันไม่รู้เลยว่าค่าเช่าราคาเท่าไหร่ ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฉันจะต้องจ่ายค่าเช่าหนึ่งปีล่วงหน้า” เธอเล่า “ฉันนึกว่าแค่เงินมัดจำและจ่ายแบบเดือนต่อเดือน ฉันต้องไปค้นคว้าเรื่องการทำสัญญาด้วยค่ะ”
ในที่สุด Bo ก็ต้องยืมเงินจากครอบครัวเพื่อจ่ายค่าเช่างวดแรก นับจากร้านอาหาร Green Gallery เปิดได้ 8 เดือน ก็สามารถดึงดูดนัก
ท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมียนมาร์รวมไปถึงคนท้องถิ่นได้
ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงในเมียนมาร์จะต้องพบเจออุปสรรคมากมาย แต่ Min Than Htut กลับมั่นใจว่าการท่องเที่ยวของเมียนมาร์จะประสบความสำเร็จในระยะยาว
“คนจำนวนมากนึกถึงการท่องเที่ยวเพียงแค่ระยะสั้นๆ” เขากล่าว “พวกเขาต้องคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีกหลายปี นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครับ”