โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เคล็ดลับ! มือใหม่อยากทำแฟรนไชส์ เริ่มแบบไหนดีถึงจะรุ่ง

การเริ่มต้นธุรกิจโดยยังขาดประสบการณ์ หรือมีความเชี่ยวชาญแต่ขาดเงินทุน อาจเป็นอุปสรรคของหลายๆ คนที่ต้องการจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ดังนั้น ธุรกิจ "แฟรนไชส์" จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก่อน แถมยังมีระบบการจัดการที่ดี ช่วยย่นระยะเวลาการลองผิดลองถูกในช่วงเริ่มต้นธุรกิจได้

แต่ใช่ว่าทุกแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จหมด นั่นเพราะแฟรนไชส์มีกฎเกณฑ์และระบบการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้น แฟรนไชส์มือใหม่ จึงควรศึกษาและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์ ว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจอะไรบ้าง ดังนี้

1.ทำความรู้จักธุรกิจแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้วิธีการขายสิทธิ์ดำเนินงานหรือเครื่องหมายการค้าให้กับผู้ที่สนใจ สำหรับผู้ที่ขายสิทธิ์นี้หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า (แบรนด์) เรียกว่า Franchisor และผู้ได้รับสิทธิ์หรือตัวเรา เรียกว่า Franchisee โดยที่ผู้รับสิทธิ์จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อแลกกับการได้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ

2.สิทธิ์อะไรบ้างที่ได้รับจากแฟรนไชส์ซอร์

2.1.การเรียนรู้กระบวนการทำธุรกิจภายใต้เครื่องหมายการค้า ผู้รับสิทธิ์จะได้รับการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับธุรกิจนั้น ๆ เช่น การทำอาหารและเครื่องดื่ม การบริหารจัดการร้านค้า หรือความรู้ความเข้าใจด้านบัญชี เป็นต้น

2.2.สิทธิ์ในการขายสินค้าและบริการที่ตกลงกัน เช่น สิทธิ์การขายผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของแฟรนไชส์

2.3.การสนับสนุนต่างๆ เช่น การฝึกอบรมพนักงาน หรือทำบัญชี เป็นต้น

3.ค่าธรรมเนียมที่ผู้รับสิทธิ์ต้องจ่าย

3.1 ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) ซึ่งอาจเปรียบได้กับค่าธรรมเนียมแรกเข้า เพื่อแลกกับเครื่องหมายการค้า ความรู้ เทคนิคการบริหารธุรกิจจากแฟรนไชส์ซอร์

3.2 ค่าธรรมเนียมสิทธิ์ (Royalty Fee) เป็นค่าตอบแทนที่คิดเป็นสัดส่วนต่อเดือนหรือต่อปี เช่น คิดจากยอดสั่งซื้อ ยอดขาย หรือผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ

ใครบ้างที่เหมาะกับการเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์

1.ขาดไอเดีย มีธุรกิจจำนวนมากที่ขายสิทธิ์ให้กับผู้ที่สนใจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น ดังนั้น หากยังไม่แน่ใจ อาจจะเริ่มต้นด้วยการมองหาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จปัจจุบัน

2.ขาดประสบการณ์ กว่าที่เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ นั้นจะเปิดสิทธิ์ให้ผู้ที่สนใจ จะต้องดำเนินธุรกิจมาจนประสบความสำเร็จหรือเป็นที่รู้จักก่อน การซื้อแฟรนไชส์จึงเปรียบเสมือนการถ่ายโอนประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาสู่ผู้ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจ

3.ขาดเงินทุน ปัจจุบันสถาบันการเงินมักมีสินเชื่อรองรับกับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่มีเงินจำกัดจึงสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่ยาก โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน

เลือกแฟรนไชส์อย่างไรดี 

1.เลือกจากความชอบ ถึงแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์มีระบบการดำเนินงานที่ดี ช่วยประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก แต่ผู้ลงทุนก็จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาให้กับการดำเนินธุรกิจภายใต้ระบบแฟรนไชส์ซึ่งเปรียบเสมือนธุรกิจตนเอง ดังนั้น ผู้ซื้อจึงจำเป็นต้องมีความชื่นชอบและสนใจในตัวธุรกิจนั้น ๆ

2.เลือกจากเทรนด์ ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเลือกธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นในอนาคต ย่อมช่วยเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น โดยอาจมองหาจากแฟรนไชส์ที่เป็นที่นิยมของลูกค้าอย่างต่อเนื่องก็ได้

3.เลือกจากงบประมาณ

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถขอสินเชื่อแฟรนไชส์ได้สูงสุดถึง 80% ของมูลค่าเงินลงทุนที่แฟรนไชส์ระบุ ตัวอย่าง เช่น มูลค่าเงินลงทุน 1,000,000 บาท ผู้ลงทุนอาจสามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 800,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้ลงทุนจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนของตนเอง นอกจากนั้นแล้ว ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีเงินทุนของตนเองเพื่อสำรองไว้ใช้หมุนเวียนในธุรกิจด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : K-Expert ธนาคารกสิกรไทย