ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

ผ่าสิทธิประโยชน์ “ประกันสังคม มาตรา 40” ครอบคลุมความคุ้มครองส่วนไหนบ้าง ล่าสุด “ผู้สูงอายุ” ก็สมัครได้แล้วด้วย


ภายหลังจากที่ภาครัฐประกาศให้ผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60-65 ปี สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 40 ได้ พร้อมให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับ ทำให้หลายคนสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดของประกันสังคม มาตรา 40 ว่ามีสาระเป็นอย่างไร ทำปล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง ต้องจ่ายเบี้ยประกันเท่าไร และจะสมัครอย่างไร วันนี้ ชี้ช่องรวย มีรายละเอียดมานำเสนอ ดังนี้ค่ะ

ประกันสังคม มาตรา 40 คือ การขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมไปถึง พนักงานอิสระต่าง ๆ ได้มีหลักประกันในชีวิตนั่นเอง ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นสามารถใช้บัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ได้

โดยผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1.มีสัญชาติไทย

2.เป็นชนกลุ่มน้อยซึ่งอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยมีมติ ครม. ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขบัตรประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 6 หรือ 7

3.เป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกรณีที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ยกเว้นผู้ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกและหลักที่สองเป็น 0)

4.มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563)

5.ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 (บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออกแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้)

6.ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการต่าง ๆ หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ

7.หากเป็นผู้พิการให้ระบุลักษณะหรืออาการของผู้พิการโดยละเอียด (ยกเว้นผู้พิการทางสติปัญญาและผู้พิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงจะได้รับจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่สามารถสมัครและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ได้)

ปัจจุบันสามารถเลือกรูปแบบจ่ายเงินสมทบได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ จากเดิมที่เลือกได้เพียง 2 แบบ ได้แก่

ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาล เพิ่มให้เป็น 300 บาท/วัน จากเดิม 200 บาท/วัน รวมถึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีถ้าไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) แต่มีใบรับรองแพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท (กรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี) และกรณีแพทย์สั่งให้หยุดพักไม่เกิน 3 วัน จะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

2.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ยังให้สิทธิตามเดิม คือ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน เป็นเวลานาน 15 ปี โดยมีเงื่อนไข คือ

– จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน

– จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน

– จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน

– จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน

3.กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือนก่อนเดือนที่ตาย ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ตาย) และได้เพิ่มเงินสงเคราะห์ให้อีก 3,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน

ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพและเงินค่าทำศพจะได้รับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1]

2.ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพยังคงได้รับเหมือนเดิมซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ และบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

ทางเลือกที่ 3 : เป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานนอกระบบ ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบมากขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีหากเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลให้อยู่ที่ 300 บาท/วัน ส่วนกรณีถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท (กรณีผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกัน ไม่เกิน 90 วันต่อปี)

2.เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข คือ

– จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน

– จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน

– จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน

– จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน

3.กรณีเสียชีวิตระหว่างทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายใน 12 เดือนก่อนเดือนที่ตาย ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายใน 6 เดือนก่อนเดือนที่ตาย)

4.ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือน ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่กิน 6 ปีบริบูรณ์ โดยต้องจ่ายเงินสมทบครบตามเงื่อนไข 24 เดือน ภายใน 36 เดือน

ทั้งนี้ สามารถใช้สิทธิ์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน เช่น หากบุตรคนแรกอายุครบ 6 ปีแล้ว สามารถนำบุตรคนที่ 3 รับเงินสงเคราะห์บุตรแทนได้จนครบอายุ 6 ปี

5.ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน และได้รับเงินบำเหน็จที่สะสมไว้เดือนละ 150 บาทพร้อมดอกผล โดยสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน อีกทั้ง เมื่อจ่ายครบ 180 เดือน รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

ประกันสังคม มาตรา 40 สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้

โดยเงินสมทบในแต่ละปีสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน หรือขอหนังสือรับรองการชำระเงินสมทบได้จากสำนักงานประกันสังคม

ทั้งนี้ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตน ประกันสังคม มาตรา 40 ได้ โดย

1.ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ( แบบ สปส. 1-40)

2.สถานที่ยื่นใบสมัคร

– กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

– ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

– หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม

– สมัครผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม

– สมัครผ่านหน่วยบริการรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เคาน์เตอร์ห้างบิ๊กซี เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส.

3.หลักฐานการสมัคร

– บัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน

– แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (สปส.1-40)

โดยสามารถจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. ห้างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ตู้บุญเติม และจ่ายเป็นธนาณัติผ่านทางไปรษณีย์

นอกจากนี้ยังสามารถหักผ่านบัญชีธนาคารต่าง ๆ ตามนี้

– ธนาคารเพื่่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

– ธนาคารออมสิน

– ธนาคารกสิกรไทย

– ธนาคารไทยพาณิชย์

– ธนาคารกรุงไทย

– ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

– ธนาคารกรุงเทพ

– ธนาคารทหารไทย

– ธนาคารธนชาต

นอกจากนี้ ยังครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือจากกรณี COVID-19 ไม่ว่าจะเป็น

– ค่ารักษาพยาบาล กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรน่า จะต้องใช้สิทธิ์บัตรทอง เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 40 ไม่คุ้มครองกรณีเจ็บป่วย

– เงินทดแทนรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงาน ตามคำสั่งของแพทย์ ได้ตั้งแต่ 50-300 บาท/วัน ไม่เกิน 30 วัน/ปี (สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 และ 2) หรือไม่เกิน 90 วัน/ปี (สำหรับผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3)

– ผู้ประกันตน มาตรา 40 จะไม่ได้รับเงินกรณีว่างงานเหมือนกับผู้ประกันตน มาตรา 33 แต่สามารถลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือจากกระทรวงการคลังได้ เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท ได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 ประกันสังคม เปิดให้ผู้สูงวัยสมัครประกันตนมาตรา 40

ขอขอบคุณข้อมูล : กระปุกดอทคอม