“ธุรกิจร้านอาหาร” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใครหลายๆคนนั้นใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของ แต่การที่จะเปิดร้านอาหารนั้นทำเลหรือที่ตั้งร้านอาหารนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาแนะนำวิธีการเลือกทำเลให้กับคนที่กำลังมองหาได้ใช้หลักการนี้เพื่อเลือกที่ตั้งของร้าน และดำเนินธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ
1.รู้ก่อว่าลูกค้าเป็นใครและอยู่ตรงไหน
ทำเลบางทำเลคนเยอะแต่อาจไม่เหมาะกับร้านของเราถ้าคนเหล่านั้นไม่ใช่กลุ่มลูกค้าที่เรามองหา ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนที่จะเลือกทำเลใดๆก็ตามเราต้องรู้ก่อนเสมอว่าเราจะขายใคร ในทำเลนั้นมีกลุ่มลูกค้าเราอยู่หรือไม่ พฤติกรรมเป็นยังไง การหาข้อมูลที่ดีที่สุดคือการเข้าไปนั่งในร้านอาหารที่คล้ายๆเราแล้วสังเกตุกลุ่มลูกค้า อีกอย่างคือการหาข้อมูลในบริเวณนั้นๆเช่น มีตึกออฟฟิศเยอะแค่ไหน กลางวันคนเหล่านี้ไปทานที่ไหนกัน คนผ่านหน้าร้านเยอะแค่ไหน
2.จำนวนประชากรในพื้นที่
ต้องมองหาที่ที่มีคนมากพอที่จะซื้อสินค้าของคุณ ถ้าสมมติว่าคนเดินผ่านหน้าร้านคุณ 100 คน มี 10 คนที่จะเข้ามาซื้อสินค้าของคุณ สถานที่แห่งนั้นควรจะเป็นที่ไหน ห้างสรรพสินค้า หน้าโรงเรียน ใกล้มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาล ใต้อาคารคอนโดมิเนียม ตลาดนัด ตลาดสด บนสถานีรถไฟฟ้า BTS ในสนามบินสุวรรณภูมิ ในขนส่งหมอชิต ริมทางเท้า หน้าโรงงาน ห้องแถวหน้าหมู่บ้าน หรือแม้แต่หน้าบ้านของคุณเอง ทำเลที่ตั้งจะเป็นตัวกำหนดประเภทของธุรกิจที่เหมาะสมให้กับคุณไปโดยปริยาย
3.กำลังซื้อหรือรายได้ในพื้นที่นั้นๆ
อีกหนึ่งตัวแปลสำคัญ คือ ความสามารถในการจับจ่ายซื้อของ ถ้าคุณได้ทำเลขายของหน้าโรงเรียน สินค้าไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง แต่ต้องซื้อได้บ่อย ยิ่งมีคู่แข่งน้อยๆ โอกาสขายดีก็มีมาก แต่ถ้าเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ถึงผู้ที่เดินเข้ามาช้อปปิ้งจะมีความสามารถในการจับจ่ายซื้อหา แต่ด้วยความที่มีคู่แข่งล้นหลาม คุณก็ต้องแน่ใจว่าธุรกิจของคุณ โดดเด่น มีเอกลักษณ์ เป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง รายได้ประชากรในพื้นที่ก็อาจจะไม่ต้องสูงเสมอไป สมมติว่าคุณเปิดร้านที่ตอบโจทย์พนักงานโรงงาน สินค้าของคุณอาจไม่จำเป็นต้องแพง แต่มีคุณภาพ สมราคา และตอบโจทย์ลูกค้า ซื้อหาได้บ่อยๆ คุณก็มีสิทธิ์รวยเท่ากับเปิดร้านในห้างเหมือนกัน
4.สะดวกสบายมีที่จอดรถ
คนเราทุกคนล้วนมีความขี้เกียจซ่อนอยู่ในตัว ลูกค้าของคุณก็เช่นกัน ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเหนื่อยกับการเดินไกลๆ เพื่อไปกินอาหาร เราล้วนต้องเลือกความสะดวกสบายก่อนทั้งนั้น เว้นเสียแต่ว่า ร้านของคุณตั้งอยู่ในตัวเมืองที่มีรถสาธารณะวิ่งผ่าน หรือใกล้รถไฟฟ้า หรือเป็นย่านที่ผู้คนเดินกันคับคั่ง แต่ถ้าหากร้านอาหารของคุณอยู่แถบชานเมือง ที่จำเป็นต้องขับรถไปกินเท่านั้น การมีที่จอดรถก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หรือถ้าร้านของคุณไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับทำเป็นลานจอดรถ ก็ให้ลองพิจารณาดูก่อนว่า แถวนั้นมีพื้นที่จอดรถที่สามารถไปจอดได้อยู่บ้างหรือเปล่า
5.สังเกตเห็นได้ง่าย
ทำเลที่ดีคือที่ที่คนมักจะสังเกตเห็นได้ง่าย อาจจะเป็นสถานที่ที่คนเดินกันอย่างพลุกพล่าน หรือเป็นบริเวณที่รถสัญจรไปมาบ่อยๆ หรือหากร้านของคุณต้องเข้าซอยไปสักนิด ก็อาจใช้วิธีติดป้ายร้านขนาดใหญ่ไว้ริมถนน เพื่อให้คนผ่านไปมารู้สึกคุ้นตา แม้วันนี้เขาอาจจะยังไม่ตัดสินใจเข้าร้าน แต่อย่างน้อยๆ เขาก็สามารถจดจำชื่อและตำแหน่งร้านของคุณได้ไม่ยาก พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับการทำโฆษณาแบบไม่ต้องเสียเงิน
6.จัดสรรค์พื้นที่ให้ความเหมาะสม
แม้คุณต้องการทำแค่ร้านเล็กๆ อย่างร้านกาแฟ หรือเบเกอรี่ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องแคร์เรื่องขนาดของร้านเลย คุณต้องไม่ลืมว่า ภายในร้านจะต้องแบ่งสัดส่วนให้เพียงพอต่อการทำครัว วางตู้เย็น ชั้นวางวัตถุดิบ รวมทั้งทำพื้นที่ออฟฟิศเล็กๆ สำหรับทำงานเอกสารของคุณด้วย หรือหากเป็นร้านอาหาร ก็ควรมีพื้นที่ไว้สำหรับนั่งรอคิว หรือพื้นที่บาร์ก่อนเข้าด้านในร้าน ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกทำเล ลองวางแผนให้ดีว่า พื้นที่เท่านี้พอแล้วจริงๆ หรือ
7.ค่าเช่าพื้นที่
เป็นปัจจัยที่คุณต้องนำมาพิจารณาควบคู่กัน ค่าเช่าที่แพงแต่แนวโน้มจะมีรายได้ที่คุ้มค่าการลงทุนเนื่องจากไม่มีคู่แข่ง หรือค่าเช่าที่ปานกลางแต่ค่อนข้างมีคู่แข่งสูง หรือค่าเช่าที่ถูกแต่เจ้าของร้านนั่งหาวและตบยุงทั้งวัน เพราะไม่มีทั้งคนเดิน ไม่มีทั้งคู่แข่งที่เป็นแรงดึงดูดลูกค้า เหล่านี้มีผลต่อความสำเร็จทั้งมวล
8.วางแผนให้ดีก่อนเซ็นต์สัญญา
ก่อนที่คุณจะเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ คุณต้องวางแผนให้ดีเสียก่อนว่า หากร้านอาหารของคุณไม่ได้ทำกำไรอย่างที่คิด คุณจะมีแผนสำรองในการจ่ายค่าเช่าให้ได้ครบตามสัญญาอย่างไร แม้จะฟังดูไม่เป็นมงคลเท่าไหร่ แต่ก็เป็นเรื่องประมาทไม่ได้เลย ทางที่ดีควรเริ่มต้นจากการเซ็นสัญญาแค่ปีหรือสองปีก่อน หากธุรกิจไปได้สวย ก็ค่อยเปลี่ยนมาเซ็นกันแบบยาวๆ