จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังบานปลายเป็นไฟลามทุ่งอยู่ในขณะนี้ แม้จะผ่านช่วงปีแรกของปีไปแล้ว แต่ภาพรวมการระบาดยังคงรุนแรงและน่าเป็นห่วง ซึ่งผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีจำนวนคนตกงานเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยหากสถานการณ์โลกยังไม่คลี่คลาย
เมื่อพูดถึงภาพรวมของตลาดแรงงานโลก องค์กรแรงงานสากล (ILO) ประเมินว่า ภาพรวมของตลาดแรงงานโลกในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมาก และคาดว่าอัตราการจ้างงานจะไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปอยู่ในจุดที่เคยเป็น ก่อนที่จะมีการระบาดใหญ่ได้ ซึ่งจะไม่ฟื้นตัวภายในปีนี้ โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ มีโอกาสที่กลุ่มคนทำงานแบบ Full-time จะตกงานอีก 340 ล้านคนทั่วโลก หรือตกงานจำนวนสูงสุดที่ 400 ล้านคน (หากชั่วโมงการทำงานลดลงแตะ 14%) หากสถานการณ์เลวร้ายลง หรือ การระบาดลากยาวไปจนถึงปลายปีนี้ ซึ่งคำทำนายของกูรูหลายๆ คน ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่าโควิด19 อาจจะมาอีกครั้งเป็น Wave 2 ภายในปี 2020
สำหรับในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ก็ได้ออกมาเปิดเผยถึงอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 ว่า พิษโควิด-19 ทำให้คนเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การตกงานจะมีอัตราสูงสุดในไตรมาส 2 ก่อนจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ดังนั้น สำหรับคนตกงานจากการถูกเลิกจ้างแบบกะทัน จะมีแนวทางการเอาตัวรอดอย่างไร ซึ่ง ชี้ช่องรวย มี 7 แนวทาง ดังนี้
1.ตั้งสติ ไม่ฟูมฟาย
ไม่ใช่เพียงแค่คุณที่ถูกบอกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน ยังมีผู้คนอีกหลายล้านชีวิตที่ประสบปัญหาเดียวกับคุณ ดังนั้น แนวทางแรกที่ต้อง คือ ต้องตั้งสติ การมีสติจะทำให้จิตใจคุณไม่ไขว้เขว แล้วค่อยๆ คิดว่าจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนไหนต่อไปอย่างไร
2.ติดต่อสำนักงานประกันสังคม
หลังจากตั้งสติแล้ว แนวทางที่ 2 คือ ไปตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทดแทน หากส่งสมทบมาแล้วกว่า 6 เดือน มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทน หากคุณมีเงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท จะสามารถเบิกค่าชดเชยว่างงานได้วันละ 150 บาท เดือนละไม่เกิน 4,500 บาท โดยมีเอกสารที่ต้องเตรียมคือ สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารที่กำหนด แบบคำรองรับผลประโยชน์กรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7) โดยขอที่ประกันสังคม หนังสือรับรองการลาออกจากบริษัท หนังสือคำสั่งนายจ้างหากจ้างออก (ถ้ามี) เมื่อกรอกเอกสารแล้วส่งให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคมแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ใบเสร็จรับคำร้องมา ซึ่งใบนี้ห้ามทำหาย เพราะว่ามีคำร้องเข้าไปจำนวนมากในแต่ละวัน หลังจากนั้นเราต้องเข้าไปลงทะเบียนว่างงานที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th อีกครั้ง เพื่อมากดรับเงินทุกๆเดือน
3.ฝากประวัติสมัครงานตามเว็บไซต์
ขอแนะนำให้อัพเดทเรซูเม่ โดยทำประวัติย่อ รวบรวมผลงานที่คุณมี จัดทำเป็น Portfolio ที่เข้าใจง่ายและแสดงความเป็นตัวตนของคุณได้ชัดเจน ซึ่งหากคุณมีผลงานดีจริง มีความสามารถจริงๆ จะต้องมีสักบริษัทที่เขาสนใจและอยากได้ตัวคุณไปร่วมงาน เพราะไม่ใช่ทุกบริษัที่เค้าจะเลิกจ้างหรือปิดกิจการในช่วงนี้
4.ลดค่าครองชีพในช่วงตกงาน
สิ่งที่คุณจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ คือลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง จากเดิมที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟื่อย ก็ลดการใช้จ่ายลง จนกว่าคุณจะได้งานใหม่ อะไรที่ไม่จำเป็นก็อย่าเพิ่งใช้เงินซื้อ อะไรที่ใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน อะไรที่ยังไม่จำเป็นต้องทำก็ให้ชะลอไว้ก่อน ต้องคิดถึงวันพรุ่งนี้เสมอ ฉะนั้น ในขณะที่ทำงานคุณควรมีเงิน “สำรอง”ไว้ในยามฉุกเฉินแบบนี้ด้วย
5.หารายได้เสริมที่สามารถทำได้
เมื่อลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแล้ว คุณควรมองหาช่องทางเพื่อให้มีรายได้เสริม ตามความถนัดหรือชำนาญ บางคนเปิดท้ายขายของตามตลาดนัด นำเสื้อผ้ามือสองที่ไม่ใช้แล้วแต่ยังอยู่ในสภาพดีก็สามารถแปรสภาพมาเป็นเม็ดเงินให้คุณใช้จ่ายในช่วงนี้ ซึ่งช่องทางการขายนอกจากตลาดนัดแล้ว ยังสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ช่วยคุณไปด้วย หรือใครที่มีฝีมือด้านการทำอาหาร ก็ลองคิดเมนูสัก 2-3 เมนู เปิดขายในตลาดนัด หรือรับออเดอร์ออนไลน์แล้วใช้บริการเดลิเวอรี่ก็ยังได้
6.ใช้บัตรเครดิตอย่างรู้คุณค่า
สำหรับใครมีบัตรเครดิต เมื่อตกงานเงินสดขาดมือสิ่งที่ไม่อยากทำแต่ก็อาจจำเป็นต้องทำคือการใช้สินเชื่อจากเครดิต แม้ต้องแลกกับอัตราดอกเบี้ยก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่การเลือกใช้บัตรเครดิตก็อาจเป็นดาบสองคมถ้าไม่รู้จักใช้ให้เป็น เพราะภาระจ่ายหนี้ของเราก็จะเพิ่มพูนขึ้น ซึ่งขอแนะนำว่าให้ใช้กดเงินสดเอามาเพื่อใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดเช่น ผ่อนค่าบ้าน ค่ารถ และไม่ควรกดมาเต็มจำนวน เอาเฉพาะส่วนที่เราขาดและคิดว่าจะหาไม่ได้จริงๆ เพื่อไม่ให้ยอดหนี้สะสมสูงจนเกินไป และต้องไม่ลืมที่จะชำระคืนทางที่ดีไม่ควรจ่ายในเรตอัตราขั้นต่ำแต่ควรจ่ายในยอดที่สูงเพื่อจะได้ตัดยอดให้หมดเร็วๆ และจะไม่กลายเป็นหนี้สะสมมากจนเกินไปด้วย
7.ลงทุนสร้างอาชีพหรือเป็นนายตัวเอง
หลายคนตกงานในช่วงที่มีอายุมากแล้ว เมื่อถูกเลิกจ้างก็นำเอาเงินที่เก็บไว้มาลองลงทุนทำกิจการของตัวเองไปเลยก็ดี ซึ่งปัจจุบันก็มีรูปแบบการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่ง “ธุรกิจแฟรนไชส์” ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้เงินลงทุนน้อย มีอุปกรณ์ที่จำเป็นกับธุรกิจครบชุด มีระบบการบริหารจัดการแบบเป็นมาตรฐาน มีทีมงานที่ปรึกษาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ เพียงแค่คุณใส่ใจและต้องลงมือทำอย่างจริงจังเท่านั้น
ในบางครั้งในวิกฤตมักจะมีโอกาสเข้ามาทักทายคุณอยู่เสมอ อยู่ที่มุมมองและการมสติไตร่ตรอง เมื่อมองเห็นช่องทางโอกาสเพียงแค่คุณเลือกและตัดสินใจ ก็อาจจะสามารถพลิกวิกฤตทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้นได้ อย่างไรเสีย ชี้ช่องรวย ขอเอาใจช่วยทุกคนนะคะ