โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

รวมเทคนิค “ขายเครื่องประดับ” บนโซเชียลมีเดีย ต้องทำอย่างไรให้ยอดขายปัง

ปัจจุบันการซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียโดยตรง ช่วยให้การซื้อทางออนไลน์ง่ายและคล่องตัวยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งเป็นผลพวงมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ช่องทางนี้เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล พร้อมทั้งยังเปลี่ยนโฉมธุรกิจอีคอมเมิร์ซไปอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้นแล้ว สำหรับเจ้าของสินค้าเครื่องประดับจะต้องใช้โอกาสนี้ เร่งทำการตลาดโดยใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์มาเป็นตัวช่วยในการสร้างยอดขายให้กับคุณเอง โดยมีวิธีการ ดังนี้

1.ภาพสวย คือ กุญแจสำคัญ

การนำเสนอภาพสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องประดับซึ่งเน้นเรื่องภาพมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อนำมารวมเข้ากับคุณสมบัติที่ช่วยในการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งเน้นภาพเป็นหลัก อย่างเช่น พินสินค้า (Buyable Pins) บน Pinterest หรือระบบ Instagram Checkout ผู้ขายเครื่องประดับก็จะสามารถเข้าถึงลูกค้า สร้างปฏิสัมพันธ์ และเปลี่ยนผู้สนใจให้เป็นผู้ซื้อได้ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของกระบวนการซื้อมากกว่าที่เคยเป็นมา

ดังนั้น ธุรกิจเครื่องประดับควรเตรียมภาพสินค้าที่จะโพสต์บนโซเชียลมีเดียให้มีความละเอียดอย่างน้อย 72 dpi และขนาดประมาณ 1,000 x 1,000 พิกเซล เมื่อไม่มีสินค้าจริงให้จับต้องและลองใส่ ภาพสินค้าจึงต้องช่วยให้ผู้บริโภคนึกออกว่าสินค้าเป็นอย่างไรให้ได้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

วิธีการนำเสนอภาพผ่านช่องทางออนไลน์ก็คือ การแสดงภาพสินค้าจากหลายๆ มุม รวมถึงการเพิ่มภาพ “ไลฟ์สไตล์” ที่มีนางแบบนายแบบมาสวมใส่เครื่องประดับให้ดู ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเมื่อสวมใส่เครื่องประดับแล้วดูสวยงามเพียงใด และยังช่วยดึงดูดให้เครื่องประดับดูน่าสวมใส่มากยิ่งขึ้น

2.ให้ความสำคัญกับฟีดบนโซเชียลมีเดีย

นอกจากจะคำนึงถึงการคัดสรรเนื้อหาที่จะปรากฏบนฟีดในโซเชียลมีเดียแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการจัดวางฟีดในภาพรวม ซึ่งหมายถึงการจัดเรียงฟีดให้โพสต์ที่มีฉากหลังคล้ายกันหรือนำเสนอสินค้าในสายผลิตภัณฑ์เดียวกันเรียงอยู่ติดกัน เพื่อให้ฟีดมีความต่อเนื่องลื่นไหลจากโพสต์หนึ่งไปยังอีกโพสต์หนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้ออยากเลื่อนลงไปดูฟีดเรื่อยๆ 

นอกจากนี้ แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะให้ผู้ขายใส่แท็กสินค้าได้หลายๆ แท็กในแต่ละโพสต์ หมายความว่าผู้ขายสามารถส่งเสริมการขายสินค้าได้มากกว่าหนึ่งชิ้น แต่หากใช้วิธีนี้มากเกินไปก็อาจทำให้ฟีดดูรกรุงรังและไม่ดึงดูด วิธีนี้อาจทำให้ผู้เข้าชมหมดความสนใจ และหันไปคลิกดูฟีดของคู่แข่งแทน ดังนั้น ผู้ขายเครื่องประดับจึงควรมุ่งเน้นความสนใจไปยังสินค้าทีละชิ้นและอาจโพสต์ให้บ่อยขึ้นเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าให้สูงที่สุด

3.อย่าละเลยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ

แม้ว่าการซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียกำลังเติบโต แต่การซื้อจากภายในแอพโดยตรงก็ยังค่อนข้างน้อยอยู่ วิธีการส่วนใหญ่คือการนำผู้ซื้อจากโซเชียลมีเดียไปยังเว็บไซต์ของผู้ขาย ดังนั้น เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่มีประสิทธิภาพและสามารถโหลดดูได้อย่างรวดเร็วจึงยังคงมีความสำคัญ

อีกทั้งในขั้นตอนการชำระเงินค่าสินค้าของลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์นั้น มักถูกเชื่อมลิงค์โดยตรงจากโซเชียลมีเดียช่องทางใดช่องทางหนึ่งไปยังหน้าชำระเงินซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ จุดนี้จึงควรได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะกระบวนการชำระเงินที่ซับซ้อนและยาวนานเกินไปนั้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ลูกค้าทิ้งสินค้าในรถเข็นโดยตัดสินใจยกเลิกการซื้อสินค้านั้นๆ

การลดจำนวนช่องที่ต้องกรอกในการคิดเงินและชำระเงิน ตลอดจนการยกเลิกช่องที่ไม่ได้มีความจำเป็นอย่างแท้จริง จะช่วยเพิ่มอัตราการตัดสินใจซื้อได้ นอกจากนี้ การแสดงให้ลูกค้าเห็นว่ามาถึงขั้นตอนไหนของการคิดเงินโดยมีแถบแสดงสถานะความคืบหน้าก็ช่วยลดความหงุดหงิดและช่วยให้ลูกค้าไม่ยกเลิกการซื้อ

โดยรวมแล้ว การซื้อสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้ซื้อ และเนื่องจากผู้ขายเครื่องประดับถูกบังคับให้ต้องปิดหน้าร้านของตน จึงถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจเครื่องประดับจะต้องเปิดรับช่องทางออนไลน์ทุกๆ ช่องทางที่จะช่วยกระตุ้นธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)