โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เจาะ “พฤติกรรมใหม่” คนไทย กับแนวคิดการอยู่รอดในโลกยุคโควิด-19 ที่ “คนตัวเล็ก” ต้องรู้

ภายหลังจากที่มีข่าวคราวมีคนไทยติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ หลังจากที่ 100 วันไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.ก็ได้ประกาศให้ความมั่นใจแล้วว่า จะดำเนินการคัดกรองและมีมาตรการอย่างเข้มงวดเพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากเชื้อไวรัสร้ายดังกล่าว

และจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์นี้ ทำให้คนไทยตื่นรู้และเตรียมตัวป้องกันตัวเองและคนในครอบครัว ส่งผลถึงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการทำงานที่ Work from Home มากขึ้น การซื้อสินค้าและบริการที่ปรับเปลี่ยนการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และใช้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่มากขึ้น สังคมปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็น Social Distancing มากขึ้นเช่นกัน

สำหรับ ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิด-19 ที่เหล่าผู้ประกอบการ “คนตัวเล็ก” ต้องศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับธุรกิจของคุณเอง โดย ชี้ช่องรวย จำแนกได้ ดังนี้

1.ขอเก็บเงินสดดีกว่า

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องเศรษฐกิจและการเงินมากที่สุด โดยกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากถึง 71% และมีความกังวลในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้ช้า 60% และกังวลเรื่องหน้าที่การงานและธุรกิจของตนเองจะหยุดชะงัก 60%

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคกว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะไม่ลงทุนกับเรื่องใดๆ เลย แต่เลือกที่จะถือเงินสดไว้กับตัว หรือเลือกที่จะฝากเงินไว้ที่ธนาคารมากกว่า โดยผู้บริโภคเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ชอบความเสี่ยง จะไม่ลงทุนใดๆ นอกจากออมเงิน เนื่องมาจากระดับรายได้และกังวลว่าลงทุนแล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนกลับมา แต่หากจะดูในสิ่งที่ผู้บริโภคเลือกลงทุนมากที่สุดในช่วงนี้ จะพบว่าผู้บริโภคเลือกที่จะลงทุนไปกับการออมเงินประจำเดือน 33% รองมาเป็นการลงทุนเกี่ยวกับการเปิดธุรกิจของตนเอง 20% และลงทุนกับการซื้อประกันภัย 12%

2.ทุก Gen กังวลเรื่องงาน

การงานคือแหล่งรายได้และความมั่นคง ในช่วงเวลานี้ผู้บริโภคไม่ได้มองเรื่องความก้าวหน้าทางการงานเป็นเป้าหมายหลักอีกต่อไป กลับมองว่า การมีงานทำ คือเรื่องสำคัญที่สุด จากการศึกษาในเรื่องอาชีพและการทำธุรกิจพบว่า

- 62% ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานของตนเอง

- 48% ผู้บริโภคกังวลในเรื่องการถูกลดเงินเดือน

- 47% กังวลในเรื่องของการถูกเลิกจ้าง หรือการไม่มีงานทำ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคมีความคิดที่จะลงทุน ลงแรงในการหางานทำและการรักษาหน้าที่การงานมากขึ้น ด้วยการเพิ่มความสามารถ (Up-Skill) และกลับไปเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม (Re-Skill) รวมไปถึงการเข้าอบรมที่ทางบริษัทส่งไป โดยผู้บริโภคใช้จ่ายเงินในเรื่องนี้ถึง 31.5% และผู้บริโภคเลือกที่จะใช้ไปกับการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 19.4%
นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้น คือ เลือกที่จะลดการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านถึง 51.6% ลดการออกไปเที่ยวสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนลง 50.1% และลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง 50%

จุดที่น่าสนใจในประเด็นนี้ และพบว่าเป็นผลโดยตรงก็คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคที่อยู่ในเจนเนอเรชั่นใด หรืออยู่ในพื้นที่ไหน ต่างก็มีความกังวลในเรื่องของความมั่นคงทางด้านการงานและการเงินตรงกันหมด แตกต่างจากในอดีตที่ความกังวลเรื่อง “หน้าที่การงานและอาชีพ” จะถูกให้ความสำคัญไม่เท่ากันในแต่ละ Gen ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ดังนี้

Gen Z : เป็นกลุ่มคนที่กำลังจะจบการศึกษา และเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงที่อัตราการว่างงานสูง และมีตำแหน่งเปิดรับอย่างจำกัด ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้คนกลุ่มนี้มีเวลาที่จะทบทวนตนเองมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ทบทวนความชอบของตัวเองอีกครั้ง และเริ่มกลับมาเรียนรู้ทักษะเพื่อให้ตัวเองบรรลุเป้าหมายของอาชีพที่มั่นคงในอนาคตก่อน แล้วเก็บความชอบของตนเองไว้เป็นเรื่องรองลงมา

Gen Millennials : เปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้เป็นรายได้ โดยกลุ่มนี้เริ่มทำงานมาสักพัก ตอนนี้จะเริ่มทบทวนตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการใช้จ่าย กิจกรรมท่องเที่ยว และการพักผ่อนที่ไม่สามารถทำได้เช่นเดิม งานที่ทำเริ่มขาดความมั่นคง ทำให้ต้องเริ่มพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่องานของตนเอง หรือเอื้อต่อความก้าวหน้าในอนาคต และเพื่อความมั่นคงจึงต้องหาแหล่งรายได้อื่น คนกลุ่มนี้จึงเริ่มที่นำสิ่งที่ชอบมาหารายได้ เพื่อให้คงสถานะทางการเงินและเป็นแหล่งรายได้เสริม เป็นหลักประกันเพิ่มความมั่นคงอีกช่องทาง

กลุ่มคนต่างจังหวัด : คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีการปรับตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว เนื่องจากมีเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ภัยธรรมชาติ ค่าแรง ราคาผลผลิต ดังนั้น มุมมองของคนต่างจังหวัดที่มีต่อ COVID-19 จึงเป็นเพียงแค่ปัจจัยที่มาทำให้เกิดการปรับตัวอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น

3.เน้นอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ การใส่ใจเรื่องสุขอนามัยของกันและกัน โดยใส่ใจเรื่องของความสะอาดสูงถึง 70% นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่ผ่านมาที่มีการล็อคดาวน์หรือการรณรงค์ให้อยู่บ้าน ทำให้หลังการแพร่ระบาด ผู้บริโภคก็ยังเลือกที่จะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นถึง 56% สอดคล้องกับการเลือกที่จะออกจากบ้านเพื่อความบันเทิงน้อยลง 46% นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่า 52%

4.ช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้น

พฤติกรรมการช้อปปิ้ง ได้รับผลกระทบจากการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลเช่นกัน เพราะผู้บริโภคเน้นเรื่องความใส่ใจด้านสุขอนามัยเป็นหลัก และระมัดระวังเรื่องความสะอาดภายนอกบ้านมากขึ้น จากผลการสำรวจชี้ว่า เมื่อต้องออกไปซื้อของ 72% เลือกที่จะรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลมากขึ้น 59% เลือกที่จะเลี่ยงการไปสถานที่ที่มีความแออัด 58% และการซื้อของผ่านทางช่องทางออนไลน์มีเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นเพียง 28% เท่านั้น เพราะยังคงมีการซื้อสินค้าเกิดขึ้นทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป นอกจากนี้พฤติกรรมการซื้อของเพื่อความผ่อนคลายก็มีการเปลี่ยนแปลง โดยผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น 82%

ดังนั้น ร้านค้าต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ โดยร้านที่เป็น offline ต้อทำการปรับลี่ยนแบบใหม่ เน้นการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าใช้เวลานานที่สุด แต่ต้องปรับเปลี่ยนเป็น ร้านค้าควรออกแบบให้การซื้อสินค้าเป็นไปอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยลง ลดการสัมผัสระหว่างบุคคล ในขณะที่ ช่องทาง Online ควรพัฒนารูปแบบการนำเสนอสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น เน้นให้ใช้เวลาอยู่ในชาแนลให้ได้นานมากที่สุด พร้อมกับนำเสนอสิ่งที่ใกล้เคียงหรือมีแนวโน้มว่าลูกค้าอาจจะซื้อได้ เนื่องจากผลสำรวจชี้ว่า แม้ลูกค้าจะใช้เวลาช้อปปิ้งน้อยลง แต่การสเปนเงินในการช้อปปิ้งไม่ได้ลงลงแต่อย่างใด

5.ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความเป็นอยู่

ในตอนนี้เรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด ทั้งสุขภาพใจและกาย โดยผลการศึกษาพบว่า

- 47% ผู้บริโภคจึงมีความกังวลเรื่องสุขภาพจิตใจ และภาวะเครียดมากที่สุด

- 45% คือความกังวลในวิธีการรักษาโรค COVID-19 และการวิจัยวัคซีนที่อาจจะยังไม่สำเร็จในเร็วๆ นี้

เมื่อทราบพฤติกรรมผู้บริโภคดังกล่าวแล้ว ก็ถึงคราวผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเราๆ แล้วว่า จะนำเอาพฤติกรรมเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของเราอย่างไร การพลิกแพลงรูปแบบการดำเนินกิจการเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย หากทำถูกต้องและดีก็ได้รับการตอบรับที่ดีเช่นกัน ชี้ช่องรวย เป็นกำลังใจให้นะคะ