โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เทคนิคการบริหารจัดการ “ร้านขายดอกไม้” ให้กำไรงอกงาม

เทคนิคการบริหารจัดการร้านดอกไม้

การจะบริหารจัดการร้านดอกไม้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ก่อนอื่นผู้ประกอบการควรรู้จักบริหารสินค้าภายในร้านก่อน ซึ่งก็คือ ดอกไม้ นั่นเอง จะว่าไปแล้วผู้ประกอบธุรกิจจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาเรื่องการสต็อกดอกไม้ เนื่องจากเมืองไทยมีสภาพอากาศร้อน จึงส่งผลให้ดอกไม้มีอายุการเก็บรักษาที่สั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการจึงไม่ควรสั่งซื้อดอกไม้มาไว้ในปริมาณมากเกินไป จะทำให้ดอกไม้ไม่สดและเน่าเสียได้ เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้นอีกด้วย

โดยทั่วไปลูกค้าส่วนใหญ่มักจะสั่งซื้อดอกไม้ล่วงหน้า แต่มีอยู่หลายรายที่เดินเข้าไปในร้าน แล้วสั่งซื้อดอกไม้เลย จุดนี้เป็นปัญหาใหญ่ในการบริหารสินค้า เพราะถ้าผู้ประกอบการสั่งซื้อดอกไม้ไว้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ก็ทำให้เกิดปัญหาได้อีกเช่นกัน
เทคนิคการบริหารสต็อกของดอกไม้คือ

โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการควรไปเลือกซื้อดอกไม้เองอาทิตย์ละครั้ง เพราะสามารถตรวจสอบว่าดอกไม้ที่ต้องการใช้นั้นควรซื้อ ปริมาณเท่าใด และถ้าไม่มีการสั่งจากลูกค้าล่วงหน้า ควรเลือกซื้อดอกไม้ที่สดและเลือกดอกที่ยังตูม เพื่อที่จะอยู่ได้นานๆ เผื่อลูกค้ามาช้าหรือยังไม่มีใครมาซื้อ แต่ถ้ามีออเดอร์อยู่แล้ว สามารถเลือกดอกที่แย้มสวยมาได้เลย และควรเลือกดูหลายๆ ร้านที่คิดว่าถูกใจที่สุด

ขั้นตอนการผลิต

จากนั้นมาสู่ขั้นตอนการผลิต ก่อนอื่นผู้ประกอบการควรทราบวัตถุประสงค์ของลูกค้า ดังต่อไปนี้

  • เนื่องในโอกาสอะไร เช่น แสดงความรัก แสดงความยินดี แสดงความเสียใจ เป็นต้น
  • ลูกค้ามีงบประมาณในการจัดเท่าใด
  • ผู้รับมีความสำคัญแค่ไหน เช่น เป็นคนในครอบครัว เป็นเพื่อน เป็นคนรัก เป็นต้น
  • ลูกค้าต้องการดอกไม้แบบไหน สีอะไร ถ้าเป็นผู้หญิงจะใช้ดอกไม้สีหวานๆ เช่น สีชมพู สีส้มอ่อน ฯลฯ ถ้าเป็นผู้ชายจะใช้ดอกไม้สีสดใส เช่น สีฟ้า สีเหลือง เป็นต้น

โดยก่อนที่จะเริ่มลงมือจัดดอกไม้ ผู้ประกอบการควรวางรูปแบบการจัดไว้ล่วงหน้าก่อน เพื่อย่นระยะเวลาการจัดให้เร็วขึ้น และควรพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง อาจมีแคตตาล็อกช่อดอกไม้สวยๆ ไว้ให้ลูกค้าเลือกในกรณีที่ลูกค้ายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกใช้ดอกไม้อะไร

รูปแบบไหน อีกทั้งดอกไม้ที่ใหม่และสดตลอดเวลา การบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามกลมกลืนกับดอกไม้เสมือนเป็นส่วนเดียวกัน ย่อมทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และการจัดส่งดอกไม้ถึงผู้ที่ต้องการให้จัดส่ง ถือเป็นการบริการที่สร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้าได้ทางหนึ่ง

ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการร้านดอกไม้ไม่ควรมองข้ามก็คือ การทำตลาดเชิงรุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากขึ้น เช่น การนำเสนอรูปแบบของสินค้าไปที่สำนักงานของลูกค้า ตามโรงแรมเล็กๆ (ถ้าเราเป็นร้านขนาดเล็ก) รวมไปถึงพวกรีสอร์ทหรือสปาต่างๆ ด้วยการเข้าไปเสนองานว่าภายในหนึ่งอาทิตย์จะขอเข้ามาจัดดอกไม้ 2–3 ครั้ง หรือขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า แล้วก็คิดราคาลูกค้าไม่แพงจนเกินไป เพื่อที่เราจะได้ลูกค้าประจำ ลูกค้าประเภทนี้ยิ่งได้หลายแห่งยิ่งดี เผลอๆ อาจมีงานนอกสถานที่

เพิ่มขึ้น โดยใช้ลูกค้าเป็นสื่อกลางซึ่งสร้างความเชื่อถือต่อลูกค้ารายใหม่ ในลักษณะ Word of Mouth เป็นการขยายฐานลูกค้าไปในตัว ส่วนลูกค้าประจำก็ขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ พอมีเทศกาลหรือโปรโมชั่นอะไรก็ส่ง SMS ไป เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรจัดร้านให้ดูทันสมัย สะอาด มองแล้วสบายตา และสื่อถึงความเป็นตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งไม่จำเป็นต้องโอ่อ่าหรูหรา หากไม่ใช่ร้านขนาดใหญ่ แต่การจัดหน้าร้านควรต้องบอกลูกค้าที่ผ่านไปมาให้ได้ว่า ร้านเราจัดดอกไม้สไตล์นี้ จัดได้กี่แบบ ขนาดไหน เช่น มีการจัดกระเช้าผลไม้ด้วย มีตุ๊กตาหมีบริการพร้อมดอกไม้ หรือมีขนมนมเนย และอีกหลายๆ อย่างที่เราต้องการสื่อให้ลูกค้ารับรู้ ด้วยการโชว์ไว้ที่หน้าร้านพอประมาณ และการจัดโชว์ดอกไม้ควรเปลี่ยนรูปแบบอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า

ในเรื่องของ บุคลากร ก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังที่กล่าวข้างต้นเกี่ยวกับปัญหาของลูกจ้างจากจุดเล็กๆ อาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ฉะนั้นการจ้างพนักงานขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจว่าเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ถ้าธุรกิจรับจัดดอกไม้ทำภายในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงาน

แต่ถ้าเป็นร้านรับจัดดอกไม้โดยทั่วไปผู้ประกอบการควรมีพนักงานไว้คอยช่วยเตรียมวัสดุอุปกรณ์การจัดดอกไม้ประมาณ 1 คน ส่วนการคัดเลือกพนักงานนั้น ควรเลือกคนที่มีความซื่อสัตย์ ละเอียดรอบคอบ ฝีมือประณีต และมีใจรักในด้านงานจัดดอกไม้ เพราะการจัดดอกไม้เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ฝีมือและความประณีตอย่างมาก ต้องสามารถจัดได้ทุกรูปแบบตามความต้องการของลูกค้าที่มาใช้บริการ

จะว่าไปแล้วอาชีพการจัดดอกไม้เป็นการขายดอกไม้และฝีมือควบคู่กันไป เพราะผู้จัดจะคิดค่าฝีมือเท่ากับครึ่งหนึ่งของราคาดอกไม้พร้อมวัสดุประกอบ ดังนั้นผู้จัดดอกไม้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเองหรือพนักงานที่จ้างมา ควรศึกษาค้นคว้ารูปแบบต่างๆ ของการจัดดอกไม้ และควรคิดรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา หรือดัดแปลงจากรูปแบบเดิมให้เป็นแบบใหม่ ครั้นเมื่อออกแบบหรือคิดแบบได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือต้องใช้ฝีมือและความเชี่ยวชาญในการจัดดอกไม้ได้อย่างละเอียดอ่อน ประณีตสวยงามเป็นที่พึงพอใจของลูกค้า

สุดท้ายเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลในเรื่องของเงินทอง ผู้ประกอบการควรทำบัญชีอย่างง่ายๆ เพื่อบันทึกข้อมูลของตัวเลขต่างๆ ที่เกี่ยวกับรายจ่ายและรายรับของการจัดดอกไม้ของแต่ละวัน เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละวันขาดทุนหรือได้กำไรกี่บาท ตัวเลขต่างๆ ที่ควรบันทึกไว้ในบัญชี ได้แก่ ค่าซื้อดอกไม้ใบไม้ และอุปกรณ์ประกอบการจัดดอกไม้ ค่าแรงงาน ค่าเช่าค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ

ด้านรายรับแต่ละวันต้องเขียนไว้ เช่น ขายได้กี่ช่อ ช่อละกี่บาท รับจัดดอกไม้นอกสถานที่ได้เงินเท่าไร และรวมเป็นเงินเท่าไร โดยทำบัญชีสรุปรายรับ–รายจ่ายของแต่ละวันเป็นตัวเลขกำไรหรือขาดทุนกี่บาท

การทำบัญชีดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการวิเคราะห์และรู้ได้ว่าควรจัดดอกไม้ในรูปทรงแบบใด ใช้ดอกอะไรจึงจะขายได้มีกำไร (ในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้กำหนดว่าให้จัดรูปทรงใดและดอกอะไร) ควรจะลดต้นทุนโดยวิธีใดบ้าง ถ้าราคาขายต่ำลงหรือราคาถูกลงแต่ปริมาณและคุณภาพยังเท่าเดิม จะทำให้ยอดขายสูงขึ้น เมื่อยอดขายสูงขึ้นย่อมทำให้เจ้าของร้านดอกไม้มีรายได้สูงตามไปด้วยนั่นเอง