นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นหนึ่งในสินค้าข้าวที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) เมื่อปี 2549 ซึ่งการผลิตสินค้าข้าว GI ในแหล่งภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียน เป็นการสร้างสินค้าข้าวที่มีเอกลักษณ์ต่างจากแหล่งผลิตอื่น จึงนับว่าเป็นโอกาสทางการค้า การตลาด รวมถึงเป็นการยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าข้าวคุณภาพที่ได้มาตรฐานการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในด้านคุณภาพและความปลอดภัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการท้องถิ่น และที่สำคัญเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น รักษาภูมิปัญญาดั้งเดิม และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
ปัจจุบัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร (ข้อมูลจากสํานักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด) มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันประมาณ 2,707,390 ไร่ โดยในปี 2562 จังหวัดร้อยเอ็ดมีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุดประมาณ 826,724 ไร่ ให้ผลผลิตรวม276,953 ตัน มีพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเกษตรวิสัย สุวรรณภูมิ หนองฮี ปทุมรัตน์ และโพนทราย
สศก. โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรณีศึกษาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,449 บาท/ไร่ช่วงการเพาะปลูกระหว่างเดือน เมษายน – สิงหาคม ระยะเวลาเก็บเกี่ยวระหว่างเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ให้ผลผลิตเฉลี่ย 360 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรได้ผลตอบแทน 5,125 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 676 บาท/ไร่ โดยเกษตรกรส่งขายข้าวเปลือกให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 14.23 บาท/กิโลกรัม และในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง (ขนาดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม)ราคาเฉลี่ย 40 – 45 บาท/ถุง และข้าวกล้องบรรจุถุงสุญญากาศ ราคาเฉลี่ย 60 – 75 บาท/ถุง
สำหรับสถานการณ์ด้านตลาด พบว่า เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิ GI มีตลาดรองรับผลผลิตที่ชัดเจนรวมถึงยังมีการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ ตลาด modern trade การออกบูธงานแสดงสินค้าและงานสำคัญของจังหวัด โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการหรือกลุ่มเกษตรกรสามารถขายสินค้าเกรดพรีเมี่ยมได้ในราคาที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีการขายในลักษณะของฝากของที่ระลึกขณะเดียวกันผู้บริโภคยังสามารถมั่นใจในเรื่องการผลิตของข้าวหอมมะลิ GI ได้อย่างแน่นอนเพราะในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการดูแลจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นอย่างดี ตั้งแต่กระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ที่ต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้การดูแลรักษา ไปจนถึงการแปรรูป
ด้าน นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวเสริมว่า สำหรับผลศึกษาดังกล่าว สศท.4 ได้มีการจัด focus group เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และจะมีการนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการพิจารณาโครงการวิจัยและประเมินผล ภายในวันที่ 16 – 17 กันยายนนี้ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าว นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายมาตรการสนับสนุนการผลิตสินค้า GI แล้ว ยังสามารถนำไปช่วยเกษตรกรในการบริหารจัดการต้นทุนให้เหมาะสม เกษตรกรมีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการ/โรงสี ยังได้รับเมล็ดข้าวที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน GI มีช่องทางการจำหน่าย และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปแล้ว (ข้าวสาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ) ได้ราคาสูงกว่าข้าวที่ไม่ได้ตรารับรอง GI
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ สศท.4 โทร. 043 261 513 ต่อ 17 หรืออีเมล [email protected]