โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

อยากจะ “เซ้งร้าน” ดีๆ สักแห่ง แต่ก็กลัวจะถูกหลอก สูญเงินโดยใช่เหตุ ให้ทำตาม 6 เทคนิคนี้

สำหรับคนที่จะเปิดร้านแต่ไม่อยากลงทุนหาทำเลหรือต้องเสียค่าใช้จ่ายที่จะสร้างร้านใหม่ จึงเลือกที่จะ “เซ้งร้าน” หรือ “เซ้งกิจการ” ที่กำลังเปิดให้คุณที่กำลังสนใจได้มารับช่วงต่อธุรกิจ

การเซ้งกิจการ คือ การเปลี่ยนเจ้าของธุรกิจ หรือเปลี่ยนจากเจ้าของเดิมที่ทำกิจการอยู่แล้ว มีการเช่าพื้นที่ตั้งกิจการจากเจ้าของพื้นที่ให้มาเป็นกรรมสิทธิ์การดำเนินกิจการ โดยเจ้าของใหม่ซึ่งได้มีการทำสัญญาเช่าใหม่ โดยสิ่งที่ผู้เซ้งจะได้รับในการเซ้งกิจการต่อจากเจ้าของเดิม นอกเหนือไปจากตัวธุรกิจคือ ทำเล องค์ความรู้ในการทำธุรกิจ วัสดุอุปกรณ์ใช้ในธุรกิจ หน้าร้าน ฐานลูกค้าเก่า รวมไปถึงกรรมสิทธิ์ในชื่อแบรนด์ ชื่อร้าน เป็นต้น

บางคนกลัวว่าจะถูกหลอก หรือกลัวว่าร้านที่เซ้งไปจะไม่ดีเหมือนอย่างที่คาดหวัง ชี้ช่องรวย มี 6 เคล็ดลับดีๆ มาให้พิจารณาเพื่อไม่ให้คุณต้องสูญเงินไปเปล่าๆ ดังนี้

1.กิจการมีสัญญาเช่าหรือไม่

ควรมีสัญญาเช่าพื้นที่ที่ชัดเจน และต้องสามารถเปลี่ยนชื่อผู้เช่าในสัญญาได้ แต่หากเป็นธุรกิจที่ไม่มีสัญญาเช่า คุณก็อาจจะตกอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะถ้าเจ้าของพื้นที่ตรวจพบหรือเปลี่ยนนโยบายใหม่ คุณก็อาจจะออกจากพื้นที่ได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ต้องศึกษาสัญญาเช่าให้ดี

2.ค่าใช้จ่ายในสัญญาเช่า คุ้มหรือไม่คุ้ม

ระยะเวลาสัญญาเช่าถือว่าสำคัญมาก ควรดูและคำนวณในละเอียด เพราะคือต้นทุนแรกสุด ที่คุณจะตัดสินว่าถ้าเซ้งแล้วจะคุ้มหรือไม่ โดยนำเอาค่าเซ้งมารวมกับค่าเช่าต่อเดือนเพื่อคำนวณ โดยนำจำนวนเดือนที่เหลือในสัญญาเช่าจากเจ้าของที่จริงมาคำนวณ แล้วคุณก็จะได้ต้นทุนหลักแต่ละเดือนว่าจะต้องเสียเท่าไร อย่าลืมว่าต้นทุนคุณไม่ได้มีแค่เรื่องนี้อย่างเดียว ยังมีอย่างอื่นอีก ถ้าต้นทุนแรกไม่คุ้มแล้วก็ไม่ควรเซ้งกิจการนั้นๆ

3.มีค่าเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่าหรือไม่

ควรเช็คเสียก่อนว่า หากต้องเปลี่ยนชื่อในสัญญาเช่า จะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ถ้ามีค่าเปลี่ยนคิดราคาเท่าไร และใครเป็นคนรับผิดชอบระหว่างผู้ไปเซ้ง หรือผู้ให้เซ้งกิจการ

4.ตรวจวัสดุอุปกรณ์ในร้านที่จะได้จากการเซ้ง

บางกรณีการเซ้งกิจการ อาจเป็นการเซ้งแบบรวมมูลค่าของอุปกรณ์ในร้านด้วย ก่อนจะเซ้งควรตรวจดูว่า อุปกรณ์จะได้รับราคาเท่าไร มีสภาพการใช้งานอย่างไร มีความจำเป็นสำหรับกิจการของคุณหรือไม่ ควรแยกแต่ละรายการอย่างละเอียดว่า อะไรใช้ได้ อะไรไม่ได้ใช้ และอะไรที่ขาด เพราะสิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในต้นทุนเช่นกัน ยิ่งเซ้งกิจการพร้อมอุปกรณ์ในสภาพดี ถือว่าเป็นการลดต้นทุนการเริ่มธุรกิจของคุณได้อีกทาง แถมไม่เสียเวลาไปซื้อใหม่อีกด้วย

5.ค่าใช้จ่ายองค์ความรู้ในกิจการ

การเซ้งกิจการ อาจจะรวมค่าความรู้ด้วย เช่น สูตรอาหาร สูตรน้ำ สูตรขนม หากคุณคิดว่าความรู้นั้นเป็นความรู้เฉพาะ หรือต้องใช้เวลาศึกษามันก็คุ้มค่าที่จะจ่าย แต่หากเป็นความรู้ที่คุณมีอยู่แล้ว หรือหาง่าย คุณอาจเลือกไม่เรียนเพื่อต่อรองราคาได้

6.ลงสำรวจร้านหรือสถานที่จริง

การลงพื้นที่จะทำให้ได้รู้ว่าสภาพกิจการเป็นอย่างไร บรรยากาศ สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ลูกค้าเยอะไหม ยอดขายดีหรือไม่ และควรจะสุ่มดูหลายๆ ช่วงเวลาเพื่อดูช่วงคึกคักและช่วงคนเงียบ เพื่อประกอบการตัดสินใจและที่สำคัญอย่าไปให้เจ้าของรู้ตัว