ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

สภาพัฒน์ เตือนไทยต้องเผชิญวิกฤตหนี้เสี่ยง 3 ประเภท


สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยขณะนี้ไทยกำลังเผชิญปัญหาหนี้ 3 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น หนี้สาธารณะประเทศ หนี้ภาคธุรกิจหนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และหนี้ภาคครัวเรือน

โดยหนี้สาธารณะของไทยในเดือน ก.ค. 2563 อยู่ที่ 47% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่ 41% ต่อจีดีพี จากสถานการณ์ไม่ปกติในประเทศ จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเยียวยาประชาชนในหลายส่วน แต่ภาพรวมหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ซึ่งยังบริหารจัดการได้ โดยมีการประเมินว่าแม้จะมีการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศจะอยู่ที่ 57% ต่อจีดีพี

สำหรับ หนี้สาธารณะ เกิดจาการกู้เพื่อชดเชยขาดดุล ในช่วง 10 ปีที่่ผ่านมา มีการทำงานขาดดุล ต้องกู้เงินมาตลอดปีละ 2.5-5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลต้องพยายามจัดทำงบประมาณแบบสมดุลให้ได้ภายใน 5-6 ปี จะทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้

ขณะเดียวกัน ยังมีหนี้ที่เกิดจากการทำนโยบายกึ่งการคลัง เพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่านกลไกของรัฐ อาทิ ธนาคารรัฐ โดยเป็นการช่วยไปก่อนแล้วรัฐบาลตั้งงบชดเชยภายหลัง ซึ่งนโยบายกึ่งการคลังนี้ทำได้แค่บางช่วงเวลา และบางโครงการเท่านั้น ทำมากไม่ได้ เพราะจะกระทบกับฐานะการคลัง จนอาจทำให้งบลงทุนลดลง

นอกจากนี้ หนี้สาธารณะยังเกิดจากการกู้เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3-5 แสนล้านบาท โดยหนี้ส่วนนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนกลับมา

ด้าน หนี้ภาคธุรกิจ จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สินเชื่อธุรกิจใหญ่ขยายตัว 36.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เช่น อัตราดอกเบี้ย ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลับเข้าถึงสินเชื่อลดลง ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการออกมาตรการด้านสินเชื่อต่าง ๆ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่มีการอนุมัติไปเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น เรื่องนี้ สศช. กระทรวงการคลัง และ ธปท. อยู่ระหว่างการหารือเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขเพื่อให้การปล่อยสินเชื่อคล่องตัวขึ้น การชำระหนี้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว อาทิ หนี้บ้าน เพียง 33-34% เท่านั้น ส่วนอีก 27% เป็นหนี้ส่วนบุคคล หนี้อุปโภคบริโภค ซึ่งเทียบกับหลายประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวมากกว่า ทำให้ไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจเรื่องหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด เพราะหนี้ส่วนนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหากับระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ โดยเมื่อลงไปดูในรายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่คนเป็นหนี้เร็วขึ้น จบปริญญาตรี อายุ 22-40 ปี มีหนี้ระดับสูง ดังนั้นอาจต้องกลับมาดูว่า สถานการณ์การเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น เกิดจากตัวบุคคล หรือจากระบบ

ที่มา : โพสต์ทูเดย์