ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

บุคคลชลประทาน ชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำปาง


คงยังจำกันได้ถึงวารสารข่าวชลประทานฉบับเดือนกันยายน 2560 กองบรรณาธิการได้เคยสัมภาษณ์แหล่งข่าวท่านหนึ่ง ซึ่งอดีตเคยเป็นเด็กบ้านนอกจากจังหวัดสุพรรณบุรี เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจนพ่อแม่มีอาชีพทำไร่ ปลูกผัก เลี้ยงหมู อีกทั้งยังเป็นเด็กเรียนไม่เก่งแต่การศึกษากลับมีปริญญาถึง 4 ใบ บุคคลคนนี้ชื่อว่า นายชัยประเสริฐ เนตรอนงค์ เป็นชายวัยใกล้เกษียณอายุราชการ ที่บัดนี้เขากำลังเป็นชาวชลประทานคนแรกที่จะได้นำเรื่องราวชีวิตการทำงานมาบันทึกลงในคอลัมน์บุคคลชลประทานเป็นครั้งที่ 2 นับเป็นเรื่องราวชีวิตที่น่าติดตาม

ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ภาษีของประชาชนต้องไม่สูญเปล่า

ชัยประเสริฐ เล่าว่า เมื่อปี 2560 ได้ถูกทางกองบรรณาธิการติดต่อสัมภาษณ์ลงวารสารข่าวชลประทาน ในคอลัมน์บุคคลชลประทาน สำหรับตน คำว่า “บุคคลชลประทาน” เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง เหมือนได้รับการเชิดชูเกียรติจากกรมชลประทานให้เป็นต้นแบบของคนมากมาย ซึ่งภายหลังจากวารสารได้เผยแพร่ไป ก็ได้มีการนำบทสัมภาษณ์นี้ไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ตนก็ได้รับคำชมเชยจากคนรู้จักในวงกว้าง เหตุนี้เองจึงทำให้ชัยประเสริฐ ขณะนั้นในวัย 57 ปี คิดว่าอายุราชการที่เหลืออีก 3 ปีนั้นจะยิ่งทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้พี่น้องประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม

“3 ปีที่ผ่านมานี้ ผมยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ โครงการชลประทานลำปาง แต่ปรับตนเองให้ทำงานเช้ายิ่งขึ้น คำว่า “เช้า” หมายถึง 7-8 นาฬิกา ผมจะนั่งที่เก้าอี้ทำงานแล้ว เพื่อวางแผนงานที่จะต้องดำเนินการ หลังจากนั้นช่วงบ่ายผมจะไปลงพื้นที่ภาคสนามและช่วงเย็นจะกลับมาดูความเรียบร้อยในห้องทำงานอีกครั้ง เพื่อบริหารจัดการงานที่มีการนำเสนอขึ้นมา เพราะต้องการตอบสนองต่องานต่าง ๆ ให้รวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสำคัญและวาระเร่งด่วนและที่สำคัญที่สุด คือ ต้องการให้ภาษีของพี่น้องประชาชนที่เป็นเงินเดือนเราไม่สูญเปล่า”

บูรณาการรอบทิศ แก้ไขปัญหาเพื่อประชาชนทันที

ชัยประเสริฐ กล่าวว่า การทำงานโครงการชลประทานจังหวัดนั้น แม้จะมีรูปแบบการทำงานที่ค่อนข้างเฉพาะตัว แต่ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลนั้นจะต้องรู้จักการบูรณาการรูปแบบการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ของจังหวัด

“การทำงานโครงการชลประทานจังหวัด ต้องรู้จักวิธีการบูรณาการงานของชลประทานกับทุกหน่วยงานในจังหวัด เช่น หากเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลาก หน่วยงานต่าง ๆ ก็จะติดต่อมาหาผม เพื่อขอการสนับสนุนเครื่องจักร แต่หากเราไม่พร้อมด้านใดด้านหนึ่งก็ต้องดำเนินการติดต่อกับสำนักงานชลประทาน เพื่อนำเครื่องจักรไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของประชาชน ให้จงได้ เรียกว่าถ้าประชาชนขอมาเราจะไม่ขัด เพราะเราทำหน้าที่บริการประชาชนหรือในอีกกรณีหนึ่ง คือ งานในโครงการที่มีการถ่ายโอนงานให้หน่วยงานอื่นแล้ว หากมีการชำรุดเสียหายเราก็ไปช่วยดูแล หรือ ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยซ่อมแซม บำรุงรักษาจนใช้งานได้”

ข้าราชการกรมชลประทาน 9 โครงการ ประดับครุฑทองคำ

ชัยประเสริฐ เล่าอีกว่า นอกจากการทำงานด้านการบูรณาการแล้ว ชัยประเสริฐเป็นหนึ่งในผู้ที่นำรูปแบบการสร้างฝายชะลอน้ำ (Check Dam) เพื่อเสริมสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเผยแพร่กับประชาชน ตลอดจนเกษตรกรนำไปปฏิบัติ ซึ่งเส้นทางการทำงานและผลงานที่สั่งสมมาตลอด ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องชี้วัดถึงความสามารถของเขา กระทั่งล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 ชายคนนี้ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นประจำปี 2562 ระดับประเทศ เป็นเกียรติของวงศ์ตระกูล ที่จะไม่มีวันลืมเลือน

“ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก ที่ได้รับรางวัลข้าราชการ พลเรือนดีเด่น เพราะการได้รับครุฑทองคำประดับหน้าอก ถือเป็นเกียรติที่มีค่าให้กับตนเองและครอบครัวกับการปฏิบัติงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม”

4 ทศวรรษภายในรั้วชลประทาน

ชัยประเสริฐจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2563 แล้วกว่า 40 ปีที่ผูกพันกับกรมชลประทานมาตั้งแต่ สมัยเป็นนักเรียนชลประทานรุ่นที่ 36 เรียนจบใน 3 ปีครึ่ง และเข้ารับราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2526

ดังกล่าวไปข้างต้นว่า ชัยประเสริฐเป็นคนเรียนหนังสือไม่เก่ง เขาจบจากโรงเรียนการชลประทานเกรดไม่ถึง 2.5 เสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาไม่สามารถที่จะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหมือนอย่างนักเรียนชลประทานคนอื่น ๆ “เลยต้องปรับความคิด เป็นว่า หากคิดจะเรียน เรียนที่ไหนก็เหมือนกันขอเพียงมีความมุ่งมั่น”

โดยเมื่อตั้งหลักได้ เขาจึงเลือกเข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทเวศร์ หลักสูตรครุศาสตร อุตสาหกรรมบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (คอ.บ.) แต่พอศึกษาไปได้ 1 ปี มีระเบียบออกมาว่าผู้ที่เรียนหลักสูตร คอ.บ.เป็นวิศวกรไม่ได้ แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว จะหยุดเรียนก็เสียดายเวลาชัยประเสริฐจึงลงเรียนวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (วศ.บ) ต่อหลังจากจบ คอ.บ.

ภายหลังจากศึกษาจบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ) ชัยประเสริฐซึ่งสนใจด้านกฎหมายจึงได้ศึกษาต่อ นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (บธ.ม) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ คว้าปริญญามาให้กับตนเองถึง 4 ใบ และได้รับใบประกอบวิชาชีพประเภทวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธาซึ่งเป็นระดับสูงสุดของประเภทใบประกอบวิชาชีพ

ความพากเพียรในการศึกษาและมุ่งมั่นในคุณความดี ชัยประเสริฐ จึงเป็นบุคคลต้นแบบสำหรับ “ครอบครัว” และผู้ที่รู้จักในวงสังคม จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2562 ชัยประเสริฐ ได้รับรางวัล “พ่อตัวอย่างแห่งชาติ พ.ศ. 2562” อีกหนึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องการันตี ตอกย้ำในการเป็นบุคคลต้นแบบให้เขามากขึ้น

“ผมจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นห่วงน้อง ๆ ที่ได้เคยร่วมงานกันมา อยากให้ทุกคนรู้จักรักษาเนื้อรักษาตัว หาเวลาออกกำลังกาย อย่างผมหันมาสนใจกีฬาวิ่งเพื่อดูแลสุขภาพ แต่น้องอีกหลายคนยังต้องปฏิบัติหน้าที่อีกเป็น 10 ปี ส่วนด้านการทำงาน ก็ขอให้ยึดข้อระเบียบเป็นหลักอยู่กรมชลประทาน

บางตำแหน่ง มีรถใช้ มีน้ำมันใช้ ขอให้คิดถึงเงินทุกสตางค์ที่มาจากภาษีประชาชน ย่อมต้องปฏิบัติงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้งเช่นกัน

ท้ายนี้ ชัยประเสริฐได้กล่าวถึง บ้านหลังที่สองที่ทำให้เด็กบ้านนอก อย่างเขามีทุกอย่าง ทั้งหน้าที่การงาน ชื่อเสียง เกียรติยศและครอบครัวที่อบอุ่นว่า “ผมขอขอบคุณกรมชลประทานเป็นอย่างมาก ผมมีตำแหน่งหน้าที่การงาน มีรายได้เลี้ยงดูและให้การศึกษาลูก ๆ ทำให้ผมมี ทุกวันนี้ได้เพราะกรมชลประทาน ไม่ว่าต่อจากนี้จะอยู่ในสถานะใด ผมจะรักและหวงแหนกรมชลประทานและอยากจะพูดคำนี้ซ้ำ ๆ ถ้าไม่มีกรมชลประทานก็ไม่มีชัยประเสริฐในวันนี้”