โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

แนะสเต็ป 9 ขั้นตอน สู่การเป็น “เจ้าของแบรนด์” สินค้า แบบง่ายๆ ก่อนจะสำเร็จต้องทำตามนี้

ในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน แต่อยากจะเป็นเจ้าของกิจการเล็กๆ หรือเจ้าของแบรนด์สินค้าที่ชอบสักแบรนด์ แต่ก็ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และมีสเต็ปขั้นตอนที่จะต้องเดินอย่างไร ชี้ช่องรวย มีคำตอบมาให้ ดังนี้ค่ะ

1.หาสินค้าที่ใช่

ก่อนอื่นคุณต้องหาสินค้าที่ต้องการก่อน แล้วถามตัวเองก่อนว่า อยากจะผลิตสินค้าอะไร อยากขายอะไร โดยอาจจะเริ่มจากความชอบส่วนตัวก่อน หรือสินค้าประเภทที่คุ้นเคย เพื่อที่เวลาผลิตจริงจะได้ไม่ต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ให้เสียเวลา เพราะมีประสบการณ์และมีความรู้พอสมควรมาบ้างแล้ว แต่ถ้าหากไม่มีก็ลองศึกษาตลาดว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าประเภทนี้หรือไม่ หรือทดลองตลาดโดยการนำสินค้าของแบรนด์อื่นมาขายก่อนเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ และ ความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น

2.ศึกษาตลาดให้รู้เขารู้เรา

เมื่อมีสินค้าที่ต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาสำรวจตลาดว่าสินค้าชนิดนี้กำลังเป็นที่นิยมในตลาดไม่ แนวโน้มธุรกิจเป็นอย่างไร คงไม่ใครอยากเป็นเจ้าของแบรนด์ที่เป็นกระแสอยู่ช่วงเดียวแล้วไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงควรศึกษาตลาดให้ดีเสียก่อนว่ามีแนวโน้มทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญควรดูว่าในตลาดมีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหนด้วย รวมถึงศึกษาคู่แข่งเพื่อนำมาทำการเปรียบเทียบและวางแผนกลยุทธ์ต่อไป

3.ร่างภาพแบรนด์อย่างคร่าวๆ

การร่างภาพแบรนด์ จะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น อาจเริ่มโดยการลองหากลุ่มลูกค้าว่า เป็นใคร เช่น หากลูกค้าสินค้าของเราเป็นครีมสำหรับผู้หญิง ก็ต้องทำความเข้าใจว่าลูกค้าเป้าหมาย ซื้อสินค้าอย่างไร ใช้อย่างไร ชอบแบบไหน ซื้อที่ไหนถ้าสินค้าที่จะซื้อไม่มีขายมีสินค้าที่ทดแทนได้หรือไม่ อะไรเป็นปัจจัยในการตัดสินใจสุดท้ายในการซื้อ เป็นต้น เพื่อที่เราจะสร้างสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ และยังเป็นการมองหาจุดเด่นว่าสินค้าของเราจะมีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างไร

4.เตรียมตัววางแผนทางการเงิน

ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆ แน่นอนว่าเรามีเงินเพียงพอสำหรับผลิตสินค้า แต่อย่าลืมว่าจะต้องมีเงินทุนหมุนสำหรับเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น การโปรโมทสินค้า การทำการตลาดเพื่อให้คนรู้จัก ได้เห็น ได้ลองใช้ เป็นต้น การวางแผนทางการเงินจึงมีความสำคัญมาก การลิสต์รายละเอียดว่าต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง แล้วแบ่งเงินทุนให้ชัดเจน รวมถึงควรมีเงินสำรองยามฉุกเฉิน เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้มีเงินสำรองไว้ใช้ นอกจากนี้ ควรเริ่มทำบัญชีเสียแต่เนิ่นๆ จะได้รู้ถึงรายรับรายจ่าย พร้อมกับคำนวนต้นทุน ไปในตัวด้วย

5.มองหาโรงงานที่ใช่

เมื่อมีสินค้าที่ใช่ เงินทุนที่พร้อม ก็ถึงเวลาที่ต้องมองหาโรงงานที่ใช่ โดยควรเลือกโรงงานที่ได้มาตราฐาน มีใบรับรองมาตรฐานโรงงาน อาทิ GMP , HACCP ,Halal ,Codex เป็นต้น รวมไปถึงดูผลงานที่ผ่านๆ มาของโรงงาน เพื่อรับรองความน่าเชื่อถือ หากต้องการเป็นเจ้าของแบรนด์ตัวเองก็สามารถเลือกใช้บริการโรงงานที่เป็น ODM หรือ OEM ที่รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ โดยเฉพาะ อาจเลือกโรงงานที่มีบริการแบบ One stop service เลยก็ได้ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และมีทีมงานที่มีประสบการณ์ดูแลให้คำปรึกษา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ควรเข้าไปดูว่ามีโรงงานจริงๆ และมีระบบปฏิบัติการที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน

6.ปรึกษากับทางบริษัทในการเลือกสูตร

หลังจากที่ได้โรงงานแล้ว บางรคนอาจยังไม่มีสูตรมาเองก็ไม่ต้องกังวล เพราะทางโรงงานก็มีสูตรให้เลือก เรียกว่า “สูตรกลาง” โดยเราสามารถกำหนดได้ว่าอยากได้สินค้าที่มีสูตรประมาณไหน มีคุณสมบัติตามที่ต้องการหรือไม่ แต่ถ้าหากไม่มีสูตรที่ถูกใจก็สามารถปรึกษากับทางโรงงาน เพื่อให้ทีมวิจัยของทางโรงงานคิดค้นสูตรขึ้นมาใหม่สำหรับแบรนด์โดยเฉพาะเลยก็ได้

7.ลองใช้ผลิตภัณฑ์จริงๆ

ทันทีที่ได้สูตรมาควรลองใช้จริงๆ กับตัวเองก่อนว่าสูตรนั้นให้ผลจริงหรือไม่ เพราะคงไม่ใครอยากใช้สินค้าที่ใช้แล้วไม่ได้ผล หรือใช้แล้วมีผลค้างเคียง ดังนั้น หากต้องการให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ เราจะขายแต่การโฆษณาสรรพคุณไม่ได้ สินค้าจะต้องดีจริง ได้ผลจริง และปลอดภัยด้วย จึงจะสามรถดึงลูกค้าและมัดใจให้กลับมาใช้สินค้าอีกเรื่อย ๆ นอกจากนี้การทดลองใช้กับตนเองยังทำให้เราได้รู้สรรพคุณและจุดเด่นของสินค้าอย่างแท้จริงเพื่อที่เราจะสามารถทำธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นใจ

8.ออกแบบฉลาก และบรรจุภัณฑ์

หลังจากได้สูตรที่พอใจแล้ว ระหว่างที่ทางโรงงานทำเรื่องขอ อย. เราก็สามารถออกแบบและสั่งทำ ฉลาก และบรรจุภัณฑ์ล่วงหน้าได้ การออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็นตัวบ่งบอกข้อมูลสรรพคุณของสินค้า และปกป้องตัวสินค้าให้ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะมาเปลี่ยนสินค้าธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสินค้าชิ้นพิเศษที่น่าซื้อมาครอบครองได้ ทั้งยังแสดงถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ของเราอีกด้วย เรียกได้ว่าไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด

9.หาช่องทางทางกระจายสินค้าสู่ตลาด

เมื่อสินค้าคลอดออกมาแล้ว ก็มาถึงกระบวนการกระจายสินค้าสู่ท้องตลาด และทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็น การโปรโมทสินค้า ทั้งทางหน้าร้านหรือทางโซเชียล รวมไปถึงการหาตัวแทนก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยในจุดนี้เราสามารถนำแผนการตลาดที่ได้ร่างเอาไว้คร่าวๆ ไปปรึกษากับทางโรงงานฝ่ายการตลาดเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้