จุดประสงค์หลักของธุรกิจออนไลน์ที่ลงเงินโฆษณากับ Facebook ก็เพื่อต้องการสร้างยอดขายให้กลับคืนมา เพราะ Facebook ถือเป็นแพลตฟอร์มทำการตลาดและการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูงมาก แถมยังวัดผลได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
แต่มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ลงเงินโฆษณาไป แล้วกลับไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง ซึ่งปัญหาตรงนี้ นำมาซึ่งการขาดทุน ไม่เกิดผลกำไร และทำให้ธุรกิจล้มเหลว ต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
จะดีแค่ไหน ถ้าเรารู้จุดบอดของปัญหา และแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์การโฆษณาให้มีประสิทธิภาพ ลองมาจับทาง 3 จุดบอดแล้วนำไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณกัน
จุดบอดที่ 1 วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายไม่ดีพอ
เพราะผู้ใช้งาน Facebook มีจำนวนกว่าหลายสิบล้านบัญชี แถมทุกคนยังมีความสนใจที่แตกต่างกันออกไป ถึงแม้ Facebook จะทำให้การโฆษณาเจาะลึกถึงเป้าหมายได้อย่างละเอียด แต่ถ้าระบุกลุ่มเป้าหมายผิดไปแม้แต่ตัวแปรเดียว ก็อาจทำให้เงินลงโฆษณาก้อนนั้นไม่เกิดผลประโยชน์เลยก็ได้
การศึกษาข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย และทดสอบกลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งตามข้อมูลประชากร เช่น อายุ เพศ และความสนใจก่อน จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะทำให้เรารู้ได้ว่ากลุ่มเป้าหมายแบบไหนที่ตอบรับกับโฆษณาได้ดีที่สุด เพราะบางกลุ่มเป้าหมาย มียอดไลก์เข้ามาเยอะ แต่ไม่เกิดยอดขาย ในขณะที่บางกลุ่ม มียอดไลก์นิดเดียว แต่ยอดขายได้มาเน้นๆ ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าเราเป็นผู้บริโภค จะมีพฤติกรรมแบบไหน เช่น ค้นหาคีย์เวิร์ดอะไรบน Google, ชื่นชอบเซเลบริตี้คนไหน, ชอบเข้าเว็บไซต์อะไร เป็นต้น
จุดบอดที่ 2 สังเกตตัวเก็บสถิติของ Facebook
เมื่อโฆษณาไม่เกิดยอดขาย อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่ากลุ่มเป้าหมายที่ตั้งค่าเอาไว้ไม่ถูกต้อง ให้ลองสังเกตที่หลายๆ ตัวแปรบนเครื่องมือจัดการโฆษณาใน Facebook เช่น
ค่า CTR (Click-through rate): ตัวเลขการคลิกตัวโฆษณาเมื่อผู้ชมเห็นโฆษณาของคุณ
Cost-per-click: ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อการคลิกหนึ่งครั้งบนชิ้นโฆษณา
Budget : จำนวนงบประมาณในการลงโฆษณาแต่ละแคมเปญ
ซึ่งค่าแต่ละอย่างที่ Facebook กำหนดไว้ ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด และนี่ก็คือสิ่งที่ผู้ลงโฆษณามักจะผิดพลาดมากที่สุด ทำให้เสียโอกาสในการลงเงินโฆษณา Facebook ไปโดยเปล่าประโยชน์
จุดบอดที่ 3 ความใจร้อนคือหายนะ
มีหลายครั้งที่คุณคิดว่า ได้ลงเงินโฆษณาไปเยอะพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่มียอดขายอยู่ดี เลยตัดสินใจหยุดโฆษณานั้น ทั้งที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลมากพอ เช่น สมมุติว่าสินค้าของคุณมีราคา 1,000 บาท และกำไรอยู่ที่ 200 บาท คุณเลยคิดว่าถ้าลงเงินไป 200 บาท ก็จะไม่ได้กำไรกลับมาเลย เลยเลือกตัดสินใจที่จะหยุดโฆษณาก่อนใช้เงินถึง 200 บาท โดยที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้เสียโอกาสในการใช้จ่ายโฆษณาสูงสุดไป
ทางออกเรื่องนี้ ก็คือ ควรปล่อยให้โฆษณาทำงานต่อไป จนเข้าถึงผู้คน (Reach) อย่างน้อย 2,000 Reach ก็จะทำให้มีข้อมูลมากพอมาวิเคราะห์ว่าคุ้มค่ากับเงินที่จะลงต่อหรือไม่ เพราะครั้งแรกที่ลงเงินโฆษณา กลุ่มเป้าหมายอาจจะยังไม่ได้ซื้อทันที
Facebook จึงมีตัวช่วยอย่าง Facebook Pixel ที่วิเคราะห์ได้ว่ามีคนจาก Facebook เข้ามารับชมจำนวนกี่คน แล้วตั้งค่าให้แสดงเฉพาะคนเหล่านี้ จะช่วยเตือนให้เขาเห็นโฆษณาบ่อยขึ้น และทำให้ประหยัดงบโฆษณาลงได้อีกเยอะ
ที่มา : marketeeronline