ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

เตือนภัย! มิจฉาชีพใช้ “แบงก์ปลอม” ซื้อสินค้า งาน Event พร้อมแนะ 9 จุดตรวจสอบแบงก์ปลอม


แบงก์ปลอมกลับมาระบาดหนักอีกระลอก ล่าสุด กลุ่มมิจฉาชีพเลือกใช้แบงก์ปลอมฉบับละ 1,000 บาท นำไปซื้อสินค้างาน Event โซนแสดงสินค้า โดยเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการที่นำสินค้าไปออกบูธก็ถูกกลุ่มมิจฉาชีพใช้จังหวะที่เหยื่อกำลังยุ่งๆ ยื่นแบงก์ปลอมให้โดยที่เหยื่อไม่ทันได้สังเกตุ

ล่าสุด ในงาน Smart SME Expo 2020 มีผู้ประกอบการ 2 ราย ตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ ชี้ช่องรวย จึงขอเตือนภัยและให้ผู้ประกอบการ SME ที่มีแผนออกแสดงสินค้าในงาน Event ต่างๆ ให้ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว ด้วย 9 วิธีการสังเกต “แบงก์ปลอม”

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาประกาศวิธีในการตรวจสอบแบงก์ปลอม สำหรับธนบัตรแบบ 17 (ร.10) ซึ่งธนบัตรแบบ 17 คือ ภาพประธานด้านหน้าธนบัตรคือ พระสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และภาพประธานด้านหลังธนบัตรคือ พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี วิธีตรวจธนบัตรชนิด 20 50 100 500 และ 1,000 บาท มีทั้งหมด 9 จุดดังนี้

1.ลวดลายเส้นนูน

บริเวณภาพพระตราประจำพระองค์ฯ คำว่า “รัฐบาลไทย” ทั้งตัวอักษรและตัวเลขไทยแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้ว จะรู้สึกนูนสะดุด

2.ลายน้ำ

3.เมื่อยกแบงก์ส่องกับแสงสว่าง จะพบ พระสาทิสลักษณ์ และตัวเลขตามชนิดราคาของธนบัตรปรากฏขึ้น เห็นได้ชัดเจนและมีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ

4.ภาพทับซ้อน

เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นว่า รูปครุฑพ่าห์ จะทับซ้อนกันสนิทพอดีทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร

5.ตัวเลขแฝง

บริเวณส่วนล่างของธนบัตรด้านหน้า จะมีตัวเลขแจ้งชนิดราคาของธนบัตรระบุไว้ สามารถมองเห็นได้เมื่อเอียงธนบัตรเข้าหาแสง

6.สัญลักษณ์สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา

7.รูปดอกไม้พิมพ์ด้วยลวดลายเส้นนูน เมื่อสัมผัสจะรู้สึกนูนสะดุดที่ปลายนิ้ว โดยตำแหน่งและจำนวนในการพิมพ์สัญลักษณ์จะแทนตัวเลขและอักษรภาษาอังกฤษในอักษรเบรลล์ ดังนี้

-ธนบัตรชนิด 20 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนเลข 2 ในอักษรเบรลล์

-ธนบัตรชนิด 50 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนเลข 5 ในอักษรเบรลล์

-ธนบัตรชนิด 100 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนอักษร H (Hundred) ในอักษรเบรลล์

-ธนบัตรชนิด 500 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนอักษร F (Five Hundred) ในอักษรเบรลล์

-ธนบัตรชนิด 1000 บาท สัญลักษณ์ที่ปรากฏแทนอักษร T (Thousand) ในอักษรเบรลล์

8.แถบสี

บริเวณด้านหน้าของธนบัตรจะปรากฏแถบสี ซึ่งสีจะฝั่งอยู่ในเนื้อธนบัตร มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะ และในแถบจะแสดงตัวเลขแจ้งชนิดราคาของธนบัตร เมื่อเปลี่ยนมุมมองแถบสีจะปรากฏเปลี่ยนแปลงดังนี้

-ธนบัตรชนิด 20 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแดง

-ธนบัตรชนิด 50 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีม่วงแดง

-ธนบัตรชนิด 100 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีม่วงแดงเป็นสีเขียว และเห็นแถบแนวนอนเลื่อนขึ้นลง

-ธนบัตรชนิด 500 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีม่วงแดงเป็นสีเขียว และภายในแถบจะเห็นรูปสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวเป็นขนาดเล็กและใหญ่

-ธนบัตรชนิด 1000 บาท แถบจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีเขียว และภายในแถบจะเห็นรูปวงกลมเคลื่อนไหวไปมาได้รอบทิศทาง

9.หมึกพิมพ์แม่เหล็กสามมิติเปลี่ยนสี

ลักษณะนี้จะใช้ดูได้เฉพาะธนบัตรชนิด 100 500 และ 1000 บาทเท่านั้น โดยให้ดูที่ลายดอกประดิษฐ์ เมื่อยกธนบัตรขึ้นดูและพลิกไปมา จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

-ธนบัตรชนิด 100 บาท ลายประดิษฐ์จะเห็นเป็นประกาย

-ธนบัตรชนิด 500 บาท ลายประดิษฐ์จะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว และพบรูปสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวไปมา

-ธนบัตรชนิด 1000 บาท ลายประดิษฐ์จะเปลี่ยนสลับจากสีทองเป็นสีเขียว และพบรูปวงกลมเคลื่อนไหวรอบทิศ
หมึกพิมพ์พิเศษสีเหลือบ

ลักษณะนี้จะใช้ดูได้เฉพาะธนบัตรชนิด 500 และ 1000 บาทเท่านั้น ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณลายน้ำ

-ธนบัตรชนิด 500 บาท ปรากฏลายดอกไม้ 3 ดอกเรียงตามแนวตั้ง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเห็นสีเหลือบเหลือง

-ธนบัตรชนิด 1000 บาท ปรากฏลายประจำยาม (ลายไทย) 3 ดอกเรียงตามแนวตั้ง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมองจะเห็นสีเหลือบเหลืองฃ

ลักษณะพิเศษภายใต้รังสีเหนือม่วง (UV)

เมื่อนำธนบัตรแต่ละชนิดไปส่องดูกับแสงเหนือม่วง (UV) จะปรากฏลายประดิษฐ์บริเวณกลางธนบัตร ตัวเลขแจ้งชนิดราคา หมวดเลขหมายจะเรืองแสง และปรากฏเส้นใยเรืองแสงสีเหลือง แดง และน้ำเงินทั่วเนื้อกระดาษ

แอพฯเช็กแบงก์ปลอม

เนื่องจากปัญหาเรื่องการปลอมแปลงธนบัตรหรือแบงก์ปลอมเกิดขึ้นเป็นระยะ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงทำแอพพลิเคชั่นชื่อว่า “Thai Banknoted” หรือ “ธนบัตรไทย” เพื่อเป็นคู่มือให้กับประชาชนได้ใช้ตรวจสอบธนบัตรว่าแบบไหนแบงก์ปลอม แบบไหนแบงก์จริง ซึ่งง่ายและสะดวกในการใช้งานเป็นอย่างมาก สามารถใช้ได้ 2 ภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รองรับระบบปฏิบัติการ IOS และ Android อีกด้วย

บทลงโทษที่ต้องรู้เกี่ยวกับแบงก์ปลอม

แน่นอนว่าการทำแบงก์ปลอมถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และสำหรับใครที่รู้แล้วว่าแบงก์ที่ตนเองถืออยู่เป็นแบงก์ปลอมแต่ก็ยังนำแบงก์ปลอมไปใช้งาน มีโทษจำคุกถึง 15 ปีเลยทีเดียว ดังนั้น ถึงแม้ว่าเราไม่ใช่ผู้กระทำความผิดโดยการผลิตแบงก์ปลอมขึ้นมา แต่ก็ต้องช่วยกันสอดส่องและไม่ส่งต่อแบงก์ปลอมให้ผู้อื่น เพื่อช่วยกันยุติวงจรมิจฉาชีพ