ภายใต้ปัจจัยลบอันเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักงัน อาทิ ภาคการการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น การส่งออกและการค้าชายแดนยังคงติดลบ การลงทุนจากต่างชาติหยุดนิ่ง การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว SMEs นับแสนรายประสบปัญหาสภาพคล่อง ส่งผลให้การบริโภคภายในชะลอตัว เพราะผู้บริโภคเพิ่มความระมัดดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงคาดการณ์ได้ว่า หากสถานการณ์โรคระบาด โควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย อีกหลายๆ ธุรกิจคงยังต้องเผชิญความเสี่ยง และอาจรุนแรงกว่าสภาพจริงในปัจจุบันนี้
หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะนับตั้งแต่มาตรการล็อกดาวน์โควิด 19 เป็นต้นมา ก็ส่อเค้าดิ่งลงเรื่อยๆ ซ้ำเติมปัญหาซัพพลายส่วนเกินที่ก่อตัวมาระยะหนึ่งก่อนหน้า รวมถึงการแข่งขันกันลดราคา ทำให้น่าจับตาว่าภายใต้สถานการณ์อันยากลำบากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีทิศทางอย่างไร ผู้ประกอบต้องตั้งรับ ปรับเปลี่ยน เพื่อให้ทันเกมอสังหาริมทรัพย์ยุค Next Normal นี้ได้อย่างไร
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
กำลังซื้อหด เปิดโหมดสมรภูมิราคา – สงครามโปรโมชัน
คุณชานนท์ เรืองกฤตยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลครึ่งปี 2563 มีมูลค่าตลาดรวม 128,457 ล้านบาท ลดลง 36 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือกลุ่มคอนโดมิเนียมที่มูลค่าตลาด 47,830 ล้านบาท ลดลง 54 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบ้านเดี่ยวมูลค่าตลาด 32,829 ล้านบาท ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มทาวน์เฮาส์มูลค่าตลาด 45,574 ล้านบาท ลดลง 12เปอร์เซ็นต์
ขณะที่โครงการใหม่ (New Project Absorption) ในช่วงเปิดตัวมียอดขายเพียง 21,058 ล้านบาท หรือ 16 เปอร์เซ็นต์ของตลาด
โดยในส่วนของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มียอดโอนครึ่งปี 2563 ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามที่คาดไว้ แต่สถานการณ์ที่ผ่านมานับว่าขายยากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยนไปจากโควิด 19 คือคนเลือกซื้อที่อยู่อาศัยแถบชานเมืองเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการต่างเทขายตัดราคากันมากขึ้น เกิดเป็นสงครามราคา และสงครามโปรโมชันที่รุนแรงยิ่งขึ้นด้วย
“ถึงตอนนี้แม้ความนิยมคอนโดใกล้รถไฟฟ้าเริ่มกลับมา แต่ก็ต้องสู้กันด้วยราคา ซึ่งเราก็ไม่ชอบ Price War เพราะจะตายกันหมด”
ชี้ 3 ปี อสังหาริมทรัพย์จะกลับมาขาขึ้นอีกครั้ง
คุณชานนท์ เปรียบเทียบว่า สถานการณ์ช่วงนี้เหมือนขับรถอยู่ในหมอก ทำให้มองไม่ชัด จึงต้องไปช้าๆ เรื่อยๆ และมีสมาธิตลอดเวลา ทั้งต้องเผื่อระยะปลอดภัยไว้ด้วย และมองว่าสถานการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกถูก Disrupt จากโควิด 19 เป็นเพียงคลื่นลูกแรก แต่ในอนาคตอันใกล้ยังมีการถูก Disrupt จากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจรออยู่ ยิ่งไปกว่านั้นช่วงต่อไปภายใน 30 ปีข้างหน้า ยังมีวิกฤต Climate Change รออยู่ โควิด 19 ครั้งนี้เป็นแค่การซ้อมเท่านั้น
“คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 3 ปีนับจากนี้ อสังหาริมทรัพย์จึงจะกลับมาฟื้น โดยประเมินจากพื้นฐานการผลิตวัคซีนต้านโควิด ที่น่าจะแจกจ่ายได้ในกลางปีหน้า แต่กว่าจะแจกจ่ายให้กับคนทั่วโลก 7 พันกว่าล้านคน คงต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ดังนั้นช่วงเวลา 3 ปีนับจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมองให้ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ผู้คนในช่วงเวลานั้นๆ ยังกลัวโควิด 19 หรือไม่ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงหนึ่งไม่สามารถระบุถึงพฤติกรรมในอีกช่วงเวลาหนึ่งได้ และไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่”
การบริหารจัดการเรื่องที่เราไม่รู้ต้องมีสมาธิอยู่ตลอดเวลา และต้องเก็บเงินสดให้ได้ ดังนั้น Cash is King จึงสำคัญมาก เพราะจากภาวการณ์แข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ทำให้ผลกำไรของผู้ประกอบการลดลง ซึ่งส่งผลต่อการบริหารหรือวางแผนในอนาคต โดยความรุนแรงของวิกฤตครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การตัดราคาโดยทำให้มีกำไรลดลงเล็กน้อย จากปกติผู้ประกอบการจะมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30 -35 เปอร์เซ็นต์
ระยะที่ 2 มีการลดราคาลงทำให้มีกำไรต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังพอเลี้ยงบริษัทให้อยู่รอดได้
ระยะที่ 3 แข่งขันกันขายต่ำกว่าทุน เป็นระยะที่ร้ายแรงที่สุด ลักษณะหั่นกำไรขายแบบ ‘กลัวเจ๊ง’
คุณชานนท์ ระบุว่า สถานการณ์ในตอนนี้ภาพรวมยังอยู่ในระยะที่ 1 คือยังมีกำไรอยู่ แม้จะมีการตัดราคากันบ้าง แต่หลังจากนี้ต้องดูต่อว่าความรุนแรงของสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งการรับมือกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงวิกฤต มีความแตกต่างกันไป และเกี่ยวพันกับการวางแผนงานในแต่ละช่วง รวมทั้งปรับเปลี่ยนตามเทรนด์ของผู้บริโภค อาทิ ผู้บริโภคทุกวันนี้ให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพ
การสร้างจุดขายในช่วงนี้ จึงควรมุ่งเน้นการโปรโมทในด้านสุขอนามัย เช่น การนำระบบไร้สัมผัสมาใช้กับคอนโดมีเนียม การขึ้นลิฟท์ใช้เทคโนโลยีเสมือน เช่น การสแกนใบหน้า การสั่งการด้วยเสียงแทน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคนี้ต้องนำมาใช้ เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ อาทิ เครื่องฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เพราะเห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนเร็ว แต่ก็ลืมเร็วและเปลี่ยนกลับไปมาเร็วเช่นกัน
“ผมอยากจะให้ทุกคนมองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส เป็นช่วงที่กำลังล้างไพ่ ทุกคนต้องมี Mindset ในด้านบวก ต้องมีการวางแผนที่รอบคอบ และต้องมีสายป่านพอสำหรับคนที่กำลังมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ถ้าถือไหวรอได้ 3 ปี ซื้อเลย แต่อย่าเป็นนักพนัน ไม่มีทุนแล้วไปกู้มาเพื่อหวังว่าจะฟลุค” คุณชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย
อสังหาฯ ภูมิภาคดิ่งแรง ต่างชาติเทขาย-ทิ้งดาวน์
คุณจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด ได้ขยายภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคว่า ปัจจุบันกำลังซื้อหลักเป็นชาวต่างชาติในกลุ่มคอนโดมีเนียม โดย 80 เปอร์เซ็นต์ซื้อเพื่อการลงทุน ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง รวมถึงลูกค้ากลุ่มคนไทยที่ซื้อเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหรืออาศัยชั่วคราว เมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดคือกลุ่มคอนโดมิเนียมราคาตั้งแต่ 3-10 ล้านบาทขึ้นไป และกลุ่ม High End ที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาท เพราะตลาดนี้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ อาทิ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย รัสเซีย จีน และยุโรป ซึ่งตอนนี้ลูกค้ากลุ่มนี้หายไปทำให้อสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเกิดโอเวอร์ซัพพลายมาระยะหนึ่งแล้ว โดยจำนวนคอนโดมิเนียมรอขายทั่วประเทศ (ไม่นับรวมกรุงเทพและปริมณฑล) มีอยู่หลายแสนยูนิต ส่วนบ้านมีจำนวนหลายหมื่นหลัง ขณะที่ปัจจุบันชาวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ รวมทั้งความพร้อมในการซื้อเปลี่ยนไป ก็ยิ่งทำให้มีการทิ้งดาวน์ไปเยอะมาก ส่วนผู้ประกอบการต่างพากันเทขายตัดราคากัน เพราะต่างคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงขาลง ยิ่งตอกย้ำให้ตลาดย่ำแย่
พฤติกรรมคนหันเน้นเช่ามากกว่าซื้อ
ด้านกลุ่มลูกค้าคนไทย ตั้งแต่มีมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่บังคับวางเงินดาวน์ 20% ในการขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 กระทบกำลังซื้อกลุ่มคนไทยที่เก็งกำไรหรือปล่อยเช่า โดยเฉพาะคนที่ทำงานในภาคของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้เห็นภาพชัดว่ากำลังซื้อของลูกค้าในกลุ่มคนไทยช่วงนี้จะยิ่งลดลงด้วย เพราะต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น อันเนื่องจากความไม่มั่นใจด้านรายได้ แต่จะมองหาการเช่าอยู่มากกว่า
EEC – เมืองรองยังน่าลงทุน
คุณจักรรัตน์ กล่าวอีกว่า บริษัทมีการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่าจะต้องเข้าสู่ช่วงถดถอย เพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงขาขึ้นมากว่า 10 ปี จึงได้เตรียมสะสมสภาพคล่องไว้หลายปี กระทั่งถึงวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสให้เข้าไปซื้อกิจการต่างๆ โดยกลยุทธ์ที่กลุ่มรัตนากรใช้ คือพยายามแตกไลน์ธุรกิจออกไป อีกทั้งปรับแนวคิดทำธุรกิจใหม่ เพราะการขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้หมายถึงการขายทรัพย์สินอีกต่อไป แต่เป็นการขายไลฟ์สไตล์ ขายความเป็นอยู่ที่ดี ขายการบริการ ขายสถานที่ทำงาน ดังนั้นการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องมองใหม่ เปลี่ยนใหม่ ที่สำคัญคือการทำธุรกิจให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม หากมองว่าช่วงนี้มีความพร้อมในการลงทุน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจคือ เมืองรองต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ EEC และจังหวัดจันทบุรี ที่เกษตรกรมีรายได้สูงจาการขายผลไม้ ส่วนทางภาคเหนือ เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ทางภาคอีสาน ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย
ส่วนจังหวัดทางภาคใต้ที่น่าสนใจและมีอนาคตมาก คือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวดีมาก อีกทั้งปลอดภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
อย่าปักใจลูกค้า ‘จีน’ แต่ต้องกระจายความเสี่ยง
ในส่วนของลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะจีนซึ่งหลายคนมองว่าเป็นความหวังในการฟื้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กลับมาได้นั้น คุณจักรรัตน์ มีความเห็นว่า
“ผลจากที่บริษัทรัตนากร ทำธุรกิจหลากหลายและเน้นการกระจายความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบน้อย แต่ถามว่านักลงทุนจีนมีความสำคัญแค่ไหน ก็ต้องบอกว่ามาก เพราะจีนจะเป็นประเทศมหาเศรษฐีโลกยุคต่อไป แต่ถามผมก็คงไม่เอาชีวิตไปฝากไว้กับนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเดียว เพราะในอดีตจะเห็นว่าลูกค้าจากหลากหลายประเทศ หมุนเวียนขึ้นลงไปตามจังหวะเวลา ดังนั้นต้องมีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม คงไม่ฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ลูกค้าจีน”
ด้านตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV หลังโควิด 19 ที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นและดีขึ้นเรื่อยๆ และเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากในด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่อยากให้ระวังเรื่องข้อกฎหมาย เพราะว่ามีกฎหมายหลายด้านที่มีความแตกต่างจากประเทศไทย รวมทั้งต้องเลือกพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีด้วยซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญในตลาดนี้
คุณจักรรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “The last survival ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด ฉลาดที่สุด เก่งที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวได้เร็วที่สุด วิกฤตรอบนี้เป็นหนึ่งบทพิสูจน์ ดังนั้นจึงอยากฝากถึงผู้ประกอบการทุกท่านว่า การทำธุรกิจจะต้องมองใหม่ เปลี่ยนใหม่ ที่สำคัญคือการทำธุรกิจให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน”
ฟองสบู่ปี 2540 วิกฤติหนักหนากว่าครั้งนี้มาก
คุณไพรัช ศักดิ์วิทย์ Senior Vice President ผู้จัดการธุรกิจจัดสรร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตอนวิกฤตฟองสบู่แตกในปี 2540ต ลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก บางส่วนล้มหายไปจากตลาดเลย ที่ยังไม่ล้มก็เหมือนพิการ ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน มีเพียงกลุ่มที่ไม่มีหนี้เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบไม่รุนแรงนัก หลังจากนั้นก็ใช้เวลา 6-7 ปีในการฟื้นฟูตลาด ซึ่งผู้ประกอบการที่เหลือรอดก็พยายามปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างธุรกิจใหม่ และด้วยการที่ตลาดอั้นมากว่า 7 ปี อีกทั้งผู้ประกอบการที่อยู่รอดได้ก็มีไม่มาก เมื่อเศรษฐกิจของประเทศกลับมาฟื้นตัว อสังหาริมทรัพย์ก็บูมอีกครั้ง เป็นวงจรการขึ้นและลงที่ชัดเจน คือพอตลาดลงมากๆ ก็ต้องปรับขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการของรัฐบาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ออกเป็นกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดสามารถไปต่อได้ แล้วตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเผชิญการทดสอบอีกครั้งตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งแม้เป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน
สถาบันการเงินเข้มแข็ง ช่วยพยุงอสังหาฯ
ขณะที่ภาวะปัจจุบัน อสังหาริมทรัพย์ซบเซามาตั้งแต่ปี 2561 และส่งผลชัดเจนขึ้นในปี 2562 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากสงครามการค้า วิกฤตโควิด 19 จึงเป็นตัวเร่งให้ทุกอย่างเลวร้ายขึ้น แต่ก็มีเรื่องดี คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการ LTV ป้องกันฟองสบู่ไว้ก่อนแล้ว เพราะหากมีการขอสินเชื่อซื้อบ้านจำนวนมาก จะก่อให้เกิดดีมานด์เทียมในตลาด ทำให้ตลาดในตอนนี้แม้จะเผชิญโควิด 19 ก็ยังจัดว่าไม่รุนแรงนัก
จากสถิติการโอนอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรก เห็นได้ว่าผู้ประกอบการยังมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าไม่กระทบหนักมาก และเชื่อว่าลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ชาวต่างชาติจะต้องกลับมา เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในทำเลที่ดี ที่สำคัญได้รับการยอมรับว่ามีมาตรการด้านสุขอนามัยและป้องกันโควิด 19 ดีในระดับโลก อีกทั้งในสายตาชาวต่างชาติมองว่าประเทศไทยเหมาะที่จะเป็นบ้านหลังที่สองไว้พักพิงระยะยาว และสำคัญที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์ยังมีราคาถูก
“การรับมือในช่วงนี้จึงต้องมีการวางแผนที่ดี กระจายความเสี่ยง และการรักษาสภาพคล่องซึ่งจำเป็นมาก ซึ่งช่วงนี้อาจจะมีการลดราคาลงบ้าง เพื่อให้ขายได้และเก็บเงินได้ ซึ่งเป็นหลักเบื้องต้นในการทำธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงนี้ แล้วค่อยดูกันในระยะยาวอีกที”
อย่างไรก็ตาม คุณไพรัช ได้ย้ำเตือนถึงปัญหาของภาคธุรกิจในอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเป็นโจทย์ที่รอแก้ไขว่า
1. ยังมีบ้านเหลือขายกว่า 3 แสนยูนิตจะทำอย่างไรต่อ
2. บ้านที่มีผู้ซื้อแล้ว แต่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ เครื่องยนต์สำคัญของประเทศและทั่วโลกหยุดชะงัก อาจเป็นปัญหาในการผ่อนชำระ แถมผู้ซื้อต่างชาติยังเข้ามาไม่ได้จะต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้ซื้อบ้านและผู้ประกอบการ ธนาคารกรุงเทพมีนโยบายเข้าไปให้การดูแลและช่วยเหลือทุกกรณี เพื่อร่วมปรึกษาหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา ส่วนในกลุ่มผู้ซื้อบ้าน ก็เข้าไปให้คำปรึกษาว่า มีความสามารถในการผ่อนชำระได้แค่ไหน รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
“วันนี้สถาบันการเงินยังเข้มแข็ง และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่งผลดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ผู้ประกอบการต้องคิดถึงการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงิน ส่วนเรื่องการลงทุนต้องคิดอย่างรอบครอบ เช่น ตลาดคอนโดมิเนียมที่อยู่ใจกลางเมืองมีราคาต้นทุนที่ดินสูงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว รวมทั้งการขอ EIA (Environmental Impact Assessment) ที่มีกฎระเบียบเข้มข้นมาก จึงต้องระมัดระวังอย่างสูง” คุณไพรัชกล่าวทิ้งท้าย
ถึงตรงนี้ท่านคงทราบแล้วว่า ภายใต้สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ชัดเจนนักในปัจจุบัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านซ่อนอยู่ ด้วยเหตุนี้การปรับกลยุทธ์ กำหนดทิศทางธุรกิจหลังจากนี้ อาจต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน มีสติอยู่เสมอ กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ที่สำคัญ คือ Cash is King
อนึ่งความคิดเห็นทั้งหมดเกิดขึ้นภายในงานสัมมนาออนไลน์ ‘ตั้งรับ ปรับเปลี่ยน ทันเกมอสังหาริมทรัพย์ ยุค Next Normal’ จัดโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เดินหน้าจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในทุกกลุ่มเพื่อให้มีความพร้อม เข้าใจตลาด และปรับตัวได้ท่ามกลางปัจจัยลบจากสถานการณ์โควิด 19
สามารถรับชมสัมมนาย้อนหลังได้ที่
และสามารถติดตามรับชมงานสัมมนาดีสำหรับผู้ประกอบการได้ที่ Bangkokbanksme แพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้สำหรับ SMEs