นางธีรารัตน์ สมพงษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้วางแผนเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ภาครัฐจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปีไปแล้วให้ลดทำนาปรังต่อเนื่อง สำรองน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้มากที่สุด เพื่อให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งปี 2563/2564 รวมถึงแนะเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะสั้นเพื่อสร้างรายได้ในช่วงฤดูแล้ง อาทิ ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว คะน้า กวางตุ้ง เป็นต้น
นอกจากการปลูกพืชอายุสั้นแล้ว เกษตรกรยังสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นเกษตรผสมผสาน โดยปลูกพืชทางเลือกที่มีอายุยาว ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะยาวและสร้างรายได้แก่เกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง สศท.6 ชลบุรี ได้ศึกษาต้นทุนสินค้าทางเลือก (Future Crop) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ที่ให้ผลตอบแทนสูงและมีโอกาสทางการตลาด ภายใต้โครงการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ และมะพร้าวน้ำหอม เป็น 2 สินค้าทางเลือกที่จังหวัดให้การส่งเสริม
หากพิจารณาต้นทุนและผลตอบแทน พบว่า
–มะม่วงน้ำดอกไม้ มีต้นทุนการผลิต 10,910 บาท/ไร่/ปี (ให้ผลผลิตในปีที่ 3) นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน ระยะเวลาเก็บเกี่ยว 160 – 180 วัน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 900 กก./ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทน 33,876 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 26,401 บาท/ไร่/ปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 37.64 บาท/กก. โดยในปี 2563 จังหวัดมีความต้องการผลผลิต 8,888 ตัน แต่ผลิตได้เพียง 1,946 ตัน จึงต้องนำเข้าผลผลิตจากจังหวัดใกล้เคียงประมาณ 6,942 ตัน ซึ่งมีแนวโน้มนำเข้าสูงขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการเป็นจังหวัดปริมณฑล ซึ่งมีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อจำนวนมาก และเป็นเมืองท่องเที่ยวจึงสามารถกระจายผลผลิตได้รวดเร็ว รวมทั้งจังหวัดมีนโยบายส่งเสริมที่ชัดเจน โดยจัดงานมหกรรมสินค้าเกษตรปลอดภัยและของดีเมืองปากน้ำเป็นประจำทุกปี และที่สำคัญมะม่วงน้ำดอกไม้จังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญหา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557
-มะพร้าวน้ำหอม สินค้าทางเลือกอีกชนิดที่จังหวัดสมุทรปราการสามารถผลิตได้ และให้ผลตอบแทนสูง พบว่ามีต้นทุนการผลิต 5,039 บาท/ไร่/ปี (ให้ผลผลิตในปีที่ 4 และเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี) นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,850 กก./ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทน 17,575 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 12,536 บาท/ไร่/ปี ราคารับซื้อเฉลี่ย 9.5 บาท/กก. ปัจจุบันมีพ่อค้ามารับซื้อผลผลิตถึงสวนเพื่อนำไปส่งต่อให้กับบริษัทส่งออกที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม กรุงเทพฯ และตลาดกลางค้าส่ง ได้แก่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง โดยในปี 2563 จังหวัดมีความต้องการ 2,110 ตัน แต่ผลิตได้เพียง 1,063 ตัน จึงต้องนำเข้าผลผลิตจากจังหวัดใกล้เคียงประมาณ 1,047 ตัน ซึ่งจังหวัดได้มีนโยบายบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำโครงการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารงานส่งเสริมการเกษตรประจำปี จัดนิทรรศการแสดงสินค้าที่เกิดจากผลการดำเนินงานโครงการตามนโยบายสำคัญที่เป็นของดีจังหวัดสมุทรปราการ เช่น มะพร้าวน้ำหอม และมะม่วงน้ำดอกไม้ เป็นต้น รวมถึงมีการสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เชื่อมโยงการผลิตและจำหน่าย เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองการตลาดให้มากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้และมะพร้าวน้ำหอม ควรศึกษาข้อมูลการผลิต ปัจจัยด้านต้นทุน ผลตอบแทน และปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย อาทิ พื้นที่ปลูก ปริมาณความต้องการใช้น้ำของพืชแต่ละชนิด การเฝ้าระวังโรคที่อาจมารบกวนส่งผลให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย แหล่งรับซื้อ และความต้องการของตลาด เป็นต้น หากท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร. 038 351 261 หรืออีเมล [email protected]