การจะลงทุนทำธุรกิจอะไรนั้นผู้ลงทุนควรพิจารณาปัจจัยหลายข้อ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเหลือน้อยที่สุด เช่นเดียวกับธุรกิจ แฟรนไชส์ ถึงแม้จะเป็นโมเดลธุรกิจสำเร็จรูปอยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะลงทุนก็ต้องพิจารณาก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะนำเสนอ 6 ปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนธุรกิจ “แฟรนไชส์” มาเป็นแนวทางมาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
1.พิจารณาประเภทของธุรกิจ
ปัจจุบันมีธุรกิจเป็นจำนวนมากที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ทั้งในส่วนของร้านอาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ สปา สุขภาพ ความงาม การศึกษา ไอที ร้านสะดวกซื้อ หนังสือ/วีดิโอ คาร์แคร์ เป็นต้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะเลือกเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ ในรูปแบบประเภทใด ซึ่งอาจเลือกประเภทธุรกิจตามความชอบหรือเลือกตามประสบการการณ์และความเชี่ยวชาญที่ผู้ประกอบการธุรกิจมีอยู่เดิม
2.พิจารณางบประมาณเงินทุน
ในบางครั้งผู้ประกอบการอาจชอบรูปแบบของธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทหนึ่ง แต่ปัญหาก็คือต้องใช้ทุนดำเนินการที่สูงเกินกว่างบประมาณที่เตรียมไว้ ซึ่งหากว่าผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่นที่จะทำ ก็ต้องใช้วิธีกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้เพียงเริ่มต้นธุรกิจก็ต้องมีภาระหนี้สินจำนวนมากเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีภาระในการจ่ายค่าซื้อสิทธิแฟรนไชส์
ตลอดจนค่าดำเนินการต่าง ๆ จนอาจทำให้เกิดความท้อถอยได้ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยพิจารณาแฟรนไชส์ ที่ใช้ทุนดำเนินการที่เหมาะสม สอดคล้องกับงบประมาณที่มี เพื่อให้กิจการดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นและมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
3.พิจารณาความน่าเชื่อถือ ชื่อเสียงของแบรนด์
บริษัท ที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการมีส่วนแบ่งในตลาดที่สูง ย่อมมีประสบการณ์ทางด้านการทำธุรกิจและมีการลองผิดลองถูกมาระยะหนึ่ง รวมทั้งมีระบบจัดการด้านการบริหารการผลิต การตลาดที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันการมีชื่อเสียงที่ดีย่อมก่อให้เกิดความนิยมชมชอบของลูกค้า
ดังนั้นโอกาสที่ธุรกิจที่เข้าไปซื้อแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จย่อมมีเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับแฟรนไชส์ต่าง ๆ สามารถหาได้จากหลายแหล่ง เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสื่ออนไลน์หรือตัวบริษัทที่ทำแฟรนไชส์เองและหากต้องการลงลึกในรายละเอียด อาจสอบถามจากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์แบรนด์นั้น ๆ ว่า ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด
4.พิจารณาเงื่อนไขของแฟรนไชส์นั้น ๆ
แฟรนไชส์ซอ มักจะมีการกำหนดค่าลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า ค่าธรรมเนียม ค่าฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการส่งเสริมการตลาดต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน บางธุรกิจอาจมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ รวมทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ จากบริษัทแม่เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่จะประกอบธุรกิจจึงควรศึกษาถึงเงื่อนไข สัญญาต่างๆ ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกลงทุนแฟรนไชส์
5.พิจารณาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์
เมื่อดำเนินธุรกิจไปสักระยะหนึ่ง สินค้า หรือ บริการ อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งอาจเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ รายได้ รสนิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมและประเพณี ที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้รูปแบบตลอดจนคุณภาพสินค้าหรือบริการ สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทแม่ผู้จำหน่ายแฟรนไชส์ที่ดีต้องปฏิบัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ฉะนั้นต้องมองหาแฟรนไชส์ที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ
6.พิจารณาแนวทางการตลาด
โดยปกติเจ้าของแฟรนไชส์ จะเก็บค่าธรรมเนียมดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้และทักษะให้กับผู้ซื้อแฟรนไชน์ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการตลาดของบริษัทที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ไปสู่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ว่ามีมากน้อยเพียงใด