โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ธุรกิจ “ข้าวแกง” ขายดีมีกำไร เพราะใคร ๆ ก็ต้องกินข้าว

ปี 2563 เป็นปีที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเจอกับมรสุมมากมาย และมูลค่าตลาดจะเหลือเพียง 3.85 - 3.89 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าในปี 2564 จะเป็นปีที่มีการแข่งขันสูง มีความหลากหลายทางการตลาด แต่ก็จะเป็นธุรกิจที่มีทิศทางการตลาดที่โตขึ้นถึง 5%

ทำไมคนสนใจธุรกิจข้าวแกง เพราะเป็นธุรกิจอาหารเดียวที่เจาะถึงใจลูกค้า “รากหญ้า” หรือคนธรรมดาทั่วๆ ไปยิ่งคนที่ชีวิตโดนผลกระทบจากพิษโควิท-19 ด้วยแล้ว เชื่อว่า บางทีการกำเงินหลักร้อยบาทไปทานอาหารแต่ละมื้อในแต่ละวัน ยังเป็นเรื่องยากและแสนเครียดในชีวิตทีเดียว

โห...แค่จะหาทำเลร้านที่จะขายดี แถมต้องมาเจอราคาเช่าร้าน แค่นี้คนส่วนใหญ่ก็ขอถอยกรูแล้ว ใจเย็น ๆ ก่อน เพราะสมัยนี้ ขนาดบางร้านที่ทำเลดีมาก จัดร้านเว่อร์วัง ก็ขาดทุนจนต้องปิดกิจการไปแล้วก็มี เมื่อเป็นธุรกิจในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ ความรอบคอบในการลงทุน การบริหารจัดการให้ดีถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ที่สำคัญในการขายข้าวแกง คือ คนทำอาหารหรือแม่ครัว หากคุณเป็นคนชอบทำอาหารและมีฝีมือ ถือว่าคุณสอบผ่าน เพราะต้นทุนที่สำคัญที่สุดในการขายข้าวแกง คือ คนทำอาหาร

ทำเลที่ตั้ง ลองหันมามองทำเลเคลื่อนที่ เพราะถึงแม้เราจะมั่นใจว่า ทำเลแถวนี้จะเหมาะสมกับการขายแต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะคิดถูกตลอดไป ดังนั้นเราควรเลือกใช้ทำเลหรือร้านที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อที่เราจะสามารถพลิกแพลงในกรณีที่เกิดภาวะการณ์ขายไม่ได้ ซึ่งนั้นก็คือ การใช้ทำเลรถเข็น

จากข้อมูลที่ได้จาก "ร้านข้าวแกงย่านบางบอน" บอกว่า เริ่มต้นตนเป็นลูกจ้างร้านขายข้าวแกงในเมือง แต่รายได้ไม่พอ ประจวบกับมีเพื่อนชวนมาทำงานที่โรงงานย่านชานเมือง หลังจากมาทำงานได้สักพัก ปรากฏว่า แม่ครัวที่มีการทำอาหารให้โรงงานลาออก ตนเลยลองปรึกษาแม่ว่า จะลองให้แม่ทำข้าวแกงไปลองขาย

แต่ทางโรงงานไม่ให้ร้านนอกเข้าไปขายในโรงงาน เลยทำให้เราเลือกขายข้าวแกงแบบข้าวแกงข้างทาง โดยมีแค่เก้าอี้ให้ลูกค้านั่งทาน แต่เราก็ใช้เรื่องปริมาณอาหาร ราคา และรสชาติมาเป็นตัวชูร้าน โดยร้านจะขายข้าวแกงจานละ 20 - 25 บาทเท่านั้น ทำให้คนในโรงงานส่วนใหญ่มาใช้บริการ

เราจะทำอาหารแค่วันละไม่เกิน 5 อย่าง ส่วนข้าวก็จะเตรียมไปประมาณ 3 หม้อ ใครที่ขายข้าวแกงใหม่ๆ แล้วมีของเหลือกลับอย่าไปเครียด เพราะพอขายไปเรื่อย ๆ เราจะคำนวณวัตถุดิบได้แม่นยำขึ้น ในบางเรื่องก็ต้องอาศัยประสบการณ์และความเคยชิน

หลังจากสร้างฐานลูกค้าได้พอสมควร ตนก็เริ่มมองหาทำเลหน้าร้านที่จะสามารถทำให้เรามีรายได้มากขึ้น ปกติแม่กับตนจะใช้รถเข็นขายในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น แต่ถ้าเรามีหน้าร้าน ก็จะสามารถขายได้ทั้งเช้า กลางวัน เย็น (หากมีแรงเหลือพอ)

ทุกวันนี้มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง จะขายข้าวแกงวันละ 2 มื้อ คือ เช้ากับกลางวัน กับข้าวจะมีประมาณ 8 - 10 อย่างให้ทำทั้งวันจะไม่มีเวลาพัก เพราะตนดูแลเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ไปจ่ายตลาดตั้งแต่ตี2 ในช่วงตี5 ของเราต้องพร้อมขายแล้ว เพราะมีทั้งคนมาซื้อก่อนไปทำงาน คนมาตักบาตร พอ 10.00 น. ต้องเตรียมทำอาหารเพิ่มเติมสำหรับตอนเที่ยงแล้ว ราคาข้าวแกงจานละ 30 - 35 บาท

สำหรับเงินลงทุนในครั้งแรกของการขายข้าวแกง ตนใช้เงินเก็บ 10,000 บาท เพื่อซื้ออุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น

  • รถเข็น
  • เตาแก๊ส
  • ตู้
  • จาน ชาม
  • ช้อน ส้อม
  • อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หม้อ กระทะ เป็นต้น
  • วัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหาร

ซึ่งตนจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ในเงินส่วนนี้จะมีเงินเหลือ สำหรับขาดเหลืออะไร ก็จะใช้เงินส่วนนี้ใช้การซื้อ เพื่อให้ทราบเงินลงทุนแรกอย่างแท้จริงไม่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝง

เงินทุนหมุนเวียน และกำไร ในช่วงเริ่มขายในช่วงแรก

  • ส่วนเงินลงทุนในแต่ละวัน ในช่วงแรกที่เริ่มขาย จะใช้เงินหมุนเวียนต่อวันอยู่ที่ 1,000 - 1,500 บาท 
  • กำไรจะอยู่ที่ประมาณ กำรอยู่ที่ประมาณ 400 - 500 บาท ต่อวัน

เงินทุนหมุนเวียน และกำไร ที่ใช้ปัจจุบัน

  • ปัจจุบันเงินทุนหมุนเวียนจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 - 2,500 บาท (ขายทั้งเช้าและกลางวัน) 
  • กำไรจะอยู่ที่ประมาณ 1,000-1,500 บาท

ใน 1 อาทิตย์จะหยุดวันอาทิตย์วันเดียว รายได้ต่ออาทิตย์ก็อยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท ใน 1 เดือนจะมีรายได้ประมาณ 20,000 - 25,000 บาท

ใครๆก็กินข้าว เจ้าของร้านข้าวแกงกล่าวทิ้งท้ายให้เรา ก่อนจะบอกว่า คนไทยยังไงก็ต้องกินข้าว แต่จะกินร้านไหน เราคนขายต้องทำยังไงก็ได้ให้เขามากินร้านเรา ที่สำคัญคือ คุณต้องวางแผนรายรับรายจ่ายให้ดี เพื่อให้ธุรกิจของคุณมีผลกำไรตามที่คุณต้องการ