ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

“วางแผนการเงิน” ก่อนลงทุน มีเงินน้อยก็สามารถลงทุนอย่างชาญฉลาดได้


เชื่อว่าหลายคนคงมีความฝันที่อยากจะลงทุนอะไรซักอย่าง และแน่นอนว่าความคาดหวังของการลงทุน คือ ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมานำเสนอ แนวทางวางแผนการเงิน ก่อนลงทุน ไม่ว่าเราจะมีเงินน้อยหรือมีเงินมากก็ ไม่ว่าจะลงทุนแบบไหนธุรกิจอะไร ก็สามารถประสบความสำเร็จได้

แผนที่ 1 วางแผนที่ทางความรู้

ก่อนจะลงทุนจริง ใช้เงินจริงๆ เราต้องวางแผนทางความรู้ก่อน นักเดินทางแสวงหาควรกางแผนที่ทางความรู้ออกมา ศึกษาพิจารณา ข้อเด่น – ข้อด้อย ของการลงทุนแต่ละประเภทอย่างรอบคอบ อันความรู้นั้น ยิ่งมากยิ่งดีครับ ปัจจุบันแหล่งความรู้ก็มีให้เราศึกษาอย่างมากมาย รวมทั้งเว็บของกรุงศรีกูรูที่เป็นแหล่งความรู้ทางการเงิน การลงทุนขนาดใหญ่ให้เราได้ศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ออกมาเป็นรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุด

แผนที่ 2 แผนเงินทุนสำรองยามฉุกเฉิน

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การลงทุนนั้นต้องใช้เวลา มิใช่จะสำเร็จได้เพียงชั่วข้ามคืน เราจึงควรวางแผนเงินสำรองยามฉุกเฉินเผื่อเอาไว้ เงินสำรองนั้นควรจะมีมากพอที่ให้ตัวเราเอง และครอบครัวอยู่ได้ 3 – 6 เดือนเป็นขั้นต่ำ เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า เราจึงควรกันเงินส่วนนี้ออกมาแช่แข็งเก็บไว้ใช้ยามจำเป็นเท่านั้น

แผนที่ 3 วางแผนสภาพคล่องทางการลงทุน

สภาพคล่องทางการลงทุน คือ เงินส่วนเกินจากเงินที่เราลงทุน เช่น ผู้เขียนมีพอร์ตหุ้น 5 ล้านบาท ผมควรมีเงินสำรองเก็บเอาไว้อย่างน้อย 5 – 10% ของขนาดพอร์ตการลงทุน เพื่อเวลาเกิดเหตุการณ์ “หุ้นตก” หรือ “ราคาขายของกองทุนรวมตก” เราจะได้มีเงินไปช้อนซื้อของดีในราคาพิเศษ หากเราสามารถรักษาสภาพคล่องได้ 5-10% ตลอดเวลา นับว่าเราเป็นนักลงทุนผู้ชาญฉลาด หรือ Intelligent Investor นั่นเอง

แผนที่ 4 แผนการลงทุนแบบทบต้น

การทบต้นทางการลงทุน คือ การลงทุนอย่างต่อเนื่องทบเข้าไปทุกเดือน ทุกปี ยกตัวอย่างเช่น ผมมีพอร์ตลงทุนในกองทุนรวม 1 ล้านบาท แผนของผมก็คือ ผมจะลงทุนแบบทบต้นทุกเดือน โดยตัดเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของผมทุกเดือนเท่าๆ กัน หากผมสามารถทบต้นการลงทุนได้ปีละ 5% ของขนาดพอร์ต และพอร์ตกองทุนรวมของผมสามารถสร้างผลตอบแทนทางการลงทุน หรือสามารถเติบโตได้ปีละ 5%

หมายความว่า ขนาดพอร์ตกองทุนรวมของผมจะโตปีละ 10% ต่อปี ด้วยการเติบโตปีละกว่า 10% นี้ พอร์ตผมจะโตเป็นสองเท่า หรือ 2 ล้านบาท ภายใน 5-7 ปีครับ สิ่งนี้เรียกว่าการลงทุนแบบทบต้น ยิ่งเราสามารถทำผลตอบแทนได้สูงขึ้น พอร์ตของเราก็จะโตเร็วขึ้น นั่นคือแผนการลงทุนแบบทบต้น ที่สำคัญไม่แพ้แผนการลงทุนอื่นๆ เลยทีเดียว

แผนที่ 5 แผนการลงทุนด้านสุขภาพ

สิ่งหนึ่งที่เราจะละเลยไม่ได้เลย คือ “สุขภาพ” ของเรา และคนที่เรารัก หากเรามีเงินทองมากมาย แต่ต้องมาเจ็บป่วยอย่างแสนสาหัส คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างแน่นอน สำหรับแผนสุดท้ายนี้ เราต้องวางแผนเรื่องสุขภาพด้วย เช่น หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ รวมทั้งการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ

คุณผู้อ่านคงคิดว่าแผนนี้ไม่เห็นจะเกี่ยวกับแผนการลงทุนอย่างชาญฉลาด แต่ความจริงแล้วแผนด้านสุขภาพนั้นแสนจะสำคัญ และเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอนครับ หากเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตใจของเราก็จะแข็งแรงตามไปด้วย การคิดวางแผนการลงทุนของเราก็จะดีตามสุขภาพจิตที่ดีของเราอย่างไม่ต้องสงสัยอะไรเลย