ปัจจุบันหนึ่งในอาชีพยอดนิยมคงหนีไม่พ้นการ “ขายของออนไลน์” ที่ทำให้เกิดเม็ดเงินไหลเวียนในระบบมหาศาล นั่นจึงทำให้หนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่สามารถมองข้ามได้ คือ ภาษี หรือ ภาษีขายของออนไลน์ วันนี้ ชี้ช่องรวย อยากจะมาอธิบายให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีการขายของออนไลน์ว่ามีอะไรบ้าง
ขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษีแบบไหน ?
ภาษีของการขายของออนไลน์นับเป็นภาษีเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งจะมีการแบ่งการคำนวณเป็น 2 ประเภท คือ
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าธรรมดา
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล : กรณีที่ร้านค้านั้นๆ มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท
โดยการคิดอัตราภาษีนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกับการจ่ายภาษีตามปกติ คือ คิดตามอัตราขั้นบันไดตามกฏหมายกำหนด และมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้ดังนี้
- หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% ของเงินได้ สำหรับร้านที่ดำเนินการแบบซื้อมา ขายไป ไม่มีการผลิตภายในร้าน
- หักตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับบ้านที่มีการผลิตภายในร้าน
- หักแบบเหมา กรณีที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เกิน 1,000,000 บาท โดยคิดภาษีเป็น 0.5% ของเงินได้
ขายของออนไลน์คำนวณภาษีอย่างไร ?
ในส่วนของ ร้านค้าออนไลน์ ภาษีหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 แบบที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซซึ่งการขายของออนไลน์ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ชี้ช่องรวย จึงขอนำเสนอการสูตรคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดาให้ได้ทราบกันก่อน
วิธีที่ 1
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย
การหักค่าใช้จ่ายในวิธีแรกสามารถทำได้ 2 แบบ
- หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาๆ ได้ 60% ของรายได้
- หักตามจริง ถ้าใช้วิธีนี้อย่าลืม!! ทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเก็บหลักฐานไว้
วิธีที่ 2
เงินได้ x 0.5%
โดยจะใช้วิธีที่ 2 นี้ เมื่อเรามีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี แล้วนำไปเปรียบเทียบกับวิธีแรก เพื่อเสียภาษีตามวิธีที่คำนวณได้มากกว่า
พ่อค้า แม่ค้า ออนไลน์ต้องยื่นภาษีแบบไหน ?
พ่อค้า แม่ค้า ออนไลน์เป็นบุคคลธรรมดาไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลก็ต้องยื่นภาษี ถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการขายของ ซึ่งจะต้องยื่นภาษี 2 รอบ
- สิ้นปี ยื่นช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. (แบบ ภ.ง.ด. 90) : จะเป็นการยื่นสรุปทั้งปีที่ผ่านมา
- กลางปี ยื่นช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. (แบบ ภ.ง.ด. 94) : เป็นการยื่นสรุปรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก โดยสามารถใช้ค่าลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่ง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 จะเหลือ 30,000
หมายเหตุ : ในส่วนของ พ่อค้า แม่ค้า ออนไลน์ ที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยเสียภาษีอยู่ที่ 7% ของรายได้ ที่สำคัญคือจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท
ข้อควรรู้ของภาษีออนไลน์
ทางสรรพากรจะรู้ได้อย่างไรว่ามีการขายของออนไลน์เกิดขึ้น ในปัจจุบันมีกฎหมายออกมารองรับทำให้ทางสถาบันการเงินต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า (e-Payment) ให้กับทางสรรพากรตรวจสอบ แต่ไม่ได้ตรวจสอบทุกบัญชี ลองมาดูเงื่อนไขกันว่าสรรพากรจะตรวจสอบอย่างไร
- เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่ายอดรวมทั้งหมดจะกี่บาทก็ตาม
- ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันเกิน 2 ล้านบาท
ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้
- เลขประจำตัวประชาชน
- ชื่อ สกุล
- เลขบัญชีเงินฝาก
- จำนวนครั้งของการฝากหรือโอน
- ยอดรวมจากการฝากหรือโอน
ซึ่งสรรพากรจะไม่เพียงตรวจสอบผู้ที่เป็นร้านค้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่มีการโอนเงินมากผิดปกติจนน่าสงสัยอีกด้วย แต่ไม่ต้องตกใจไป แม้ว่าคุณเพิ่งทำธุรกิจขายของออนไลน์หรือทำมานานแล้วก็สามารถเตรียมตัวได้ไม่ยาก