ใครว่าเปิดร้านอาหารเล็กๆ จะรวยไม่ได้ ร้านอาหารขนาดเล็กในที่นี้จะเป็นประมาณ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวมันไก่ ร้านข้าวขาหมู หรืออาหารจานด่วน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแถมไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะเหมือนร้านอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะรายได้ดีกว่ามนุษย์เงินเดือนด้วยซ้ำไป วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกเทคนิคดีๆ ที่จะทำให้ร้านอาหารขนาดเล็กประสบความสำเร็จมาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง
1.การเลือกทำเลให้ดี
เพื่อไม่ให้พลาด วิธีการเลือกทำเล ไม่ได้หมายความว่าชอบตรงไหนก็สามารถที่จะไปเปิดได้เลย การที่ทำเลมีคนพลุกพล่านก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราต้องสังเกตสังกาให้ชัดเจน หลักการขั้นพื้นฐานคือการไปนั่งเฝ้าดูผู้คนบริเวณดังกล่าวอย่างน้อย 7 วัน สังเกตว่าคนแถวนั้นเป็นใคร เป็นพนักงานออฟฟิศ สาวโรงงาน นิสิตนักศึกษา หรืออยู่ในโซนที่อาศัย
2.มีเงินทุน และวางแผนให้เป็น
การวางแผนด้านเงินทุนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินทุนสำหรับเช่าร้าน ตกแต่งร้าน ซื้ออุปกรณ์เข้าร้าน ถ้าหากเงินไม่พอจะลดขนาดร้านลงมา หรือจะเหลือขนาดร้านเป็นเพียงรถเข็น ก็ต้องมีการประเมินเงินทุนในส่วนนี้เสียก่อน หลังจากนั้นจะต้องมีเงินสะสมอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนระหว่างที่ร้านของเราเพิ่มเริ่มตั้ง ลูกค้ายังไม่ค่อยรู้จัก
3.อาหารต้องอร่อย สะอาด ราคาเหมาะสม
เสน่ห์ของการเปิดร้านอาหารจิ๋วหรือร้านอาหารขนาดเล็กคือราคาไม่แพง ใครก็เข้ามากินได้ด้วยความสบายใจ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือความอร่อย คนในยุคนี้ให้ความสำคัญกับรสชาติของอาหารมาก หากอาหารอร่อยก็จะมีการบอกต่อ ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก นำไปริวิว เป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับร้านเรา สิ่งสำคัญอีกอีกประการหนึ่งคือความสะอาด ร้านอาหารขนาดเล็ก หากเราสามารถปรุงอาหารของเราอยู่หน้าร้าน จัดวางการปรุงได้อย่างสะอาด กลิ่นของอาหารที่ปรุงจะช่วยเรียกแขกได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ในร้านก็ต้องสะอาด เป็นการยกระดับร้านอาหารริมทางให้ได้ระดับมากขึ้น
4.ทำรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน
ร้านค้าขนาดเล็กส่วนหนึ่งที่มาเปิดทำร้านจะไม่ค่อยมีความรู้ทางบัญชี การเงิน บางทีหากไม่เข้าใจในเรื่องนี้ แม้ว่าร้านขายอาหารมาก ก็อาจขาดทุนได้ วิธีการง่ายๆ คือต้องแยกเงินออกเป็น 2 ตะกร้า ตะกร้าแรกเป็นเงินฝั่งรายรับ แต่ละวันขายได้เท่าไหร่ให้นำเงินใส่ตะกร้านี้ เมื่อจบการขายในแต่ละวันก็หักเงินจากฝั่งรายรับไปส่วนหนึ่ง
เพื่อเติมเข้าตะกร้าฝั่งรายจ่าย เพื่อนำไปจ่ายค่าวัตถุดิบที่จะนำมาขาย ควรบริหารว่าวัตถุดิบไหนซื้อรายวัน วัตถุดิบไหนซื้อรายสัปดาห์ ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นรายเดือน แล้วเฉลี่ยออกมา เวลาขายจบในแต่ละวันก็ต้องชักเงินพวกนี้ออกด้วยถึงจะเห็นกำไรที่แท้จริงในแต่ละวัน นอกจากนี้ควรระมัดระวังให้ต้นทุนคงที่หากซื้อในปริมาณเดิม
5.ประชาสัมพันธ์ทันยุคทันสมัย
ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ต้องมีการประชาสัมพันธ์โปรโมชั่น เช่น ทำใบปลิวแจกคนในบริเวณแถวนั้น หรือในยุคสมัยใหม่ทำเพจเฟซบุ๊กขึ้นมา ทำการประชาสัมพันธ์ร้าน โดยสามารถเลือกให้ข้อความในการประชาสัมพันธ์ปักหมุดอยู่ในอาณารัศมีที่เราต้องการได้ หากเราไม่มีความรู้ ก็คงต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์มาทำให้เราในช่วงแรก
6.มากกว่ามีหน้าร้านก็ต้องเดลิเวอรี่
แน่นอนว่าปัจจุบันอีกช่องทางการขายอาหารคงหนีไม่พ้น “เดลิเวอรี่” ซึ่งก็มีอยู่หลายแพลตฟอร์มให้เข้ารวมลองเลือกดูว่าแบรนด์ไหนเหมาะกับเรามากที่สุด เพราะแต่ละแบรนด์มีการหักส่วนต่างที่ไม่เท่ากัน หรืออย่างน้อยก็เริ่มเดลิเวอรี่ด้วยตัวเองเน้นกลุ่มลูกค้าโดยรอบร้านไม่ไกลมากนัก