โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

5 สาเหตุที่ทำให้ “การตลาด” ที่ทำอยู่ล้มเหลวไม่เป็นท่า

การทำการตลาดเพื่อธุรกิจดูเหมือนจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครก็สามารถทำได้ แต่ใช่ว่าทุกคนจะประสบความสำเร็จมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ลงทุนไปมาก แต่การทำการตลาดก็ยังคงล้มเหลว ผลตอบรับที่ได้ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกถึง 5 สาเหตุที่ทำให้ “การตลาด” ที่ทำอยู่ล้มเหลวไม่เป็นท่า มาดูกันว่าจะมีอะไรบ้าง

1.ไม่เคยนิยาม “ความสำเร็จ” ที่ชัดเจนในใจ

คำว่า “ความสำเร็จ” นั้นเป็นคำที่ได้แปลความหมายได้เป็นล้านๆ ความหมาย ขึ้นอยู่กับมุมมองและสถานการณ์ของผู้พูดในตอนนั้น แต่ละคนต่างคนก็จะมีนิยามของความสำเร็จที่ต่างกันออกไป ซึ่งการจะไปให้ถึงความสำเร็จในแต่ละแบบก็มีความยากง่ายไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ธุรกิจเล็กๆ ที่ตั้งเป้าให้มีรายได้ 2,000,000 บาทต่อปี

ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถดำเนินการเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จมากกว่า เมื่อเทียบกับธุรกิจอีกเจ้าที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายธุรกิจไปให้มีสาขาได้ใน 20 จังหวัดภายใน 1 ปี เป็นต้น การตั้งเป้าหมายให้เป็นไปได้นี้ นอกจากจะมีผลต่อกำลังใจในการทำงานไปให้ถึงเป้าหมายแล้ว ยังสามารถส่งผลกระทบถึงการวางแผนและการทำงานในแต่ละขั้นตอนด้วย

โดยถ้าหากเราตั้งเป้าหมายที่ยากและเป็นนามธรรมเกินไป การกำหนดทิศทางในการทำงานหรือวิธีการทำงานต่างๆ ก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น ทำให้การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นด้วย ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายของธุรกิจให้ชัดเจน และมีความยากง่ายเหมาะสมกับกำลังความสามารถของแต่ละธุรกิจจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการวางแผนการตลาด

2.ทำทุกอย่างเองคนเดียว

ในมุมมองของเจ้าของธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เราอาจคิดว่าการทำการตลาดเป็นเพียงแค่หนึ่งในกลไกเล็กๆ ไม่สำคัญเท่าไหร่ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าไปได้ และเราเองแค่เพียงคนเดียวก็สามารถจัดการดูแลการทำการตลาดด้วยตัวคนเดียวได้ ยิ่งในปัจจุบันที่มีแหล่งข้อมูลมากมาย ไม่ว่าจะหนังสือการตลาดที่พิมพ์ออกมาหลายๆ เล่มหรือเว็บไซต์ต่างๆ ให้เราศึกษาหาความรู้ทางการตลาดได้ด้วยตัวเอง

ทำให้เรายิ่งมีความมั่นใจและเห็นว่าการตลาดเป็นเรื่องที่เราควรพึ่งพาแค่ตัวเองเท่านั้นมากยิ่งขึ้น แต่ในบางครั้ง ในหลายตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีความซับซ้อน การที่เราคิดวางแผนทำการตลาดด้วยตัวเองแต่เพียงผู้เดียวอาจจะไม่เพียงพอ และการทำงานคนเดียวอาจทำให้เราพลาดมองไม่เห็นจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองจนอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ อย่างน้อยถ้าหากเรามีเพื่อนร่วมงาน ทีมงานด้านการตลาด หรือหุ้นส่วนที่มีมุมมองทางธุรกิจมาช่วยกันสังเกตทิศทางตลาดเพื่อวางแผนการทำงาน ก็อาจจะช่วยให้เรามีมุมมองทางการตลาดที่กว้างและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

3.ไม่รู้จักจริงๆ ว่าลูกค้าเป็นใคร

หลายครั้งเราอนุมานเอาเอง! เราเชื่อไปเองว่าสินค้าของเรานั้นเหมาะกับนักธุรกิจที่มีฐานะปานกลางก็ได้ ฐานะดีก็ได้ และในขณะเดียวกันเราก็เผื่อไว้ว่าพ่อบ้านที่ถึงจะไม่ได้เป็นนักธุรกิจเองก็คงจะชอบสินค้าของเราและอยากจะลองใช้มันดูด้วยเช่นกัน ปัญหาที่แอบซ่อนอยู่ในย่อหน้าแรกนั้นเป็นปัญหาลึกซึ้งข้อหนึ่งที่ระดับผู้บริหารมือใหม่ส่วนใหญ่มักมองไม่เห็น

นั่นคือ การที่เราระบุตัวตนที่ชัดเจนของลูกค้าไม่ได้นั้นนำไปสู่ความคลุมเครือและยากลำบากในการทำการตลาด เพราะสิ่งเหล่านี้มักนำเราไปสู่การใช้วงเงินมหาศาล ความคลุมเครือในการเลือกแคมเปญการตลาดที่เข้ากับลูกค้า ความกว้างของกลุ่มลูกค้าที่จะทำให้ฝ่ายขายเองก็โฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่ถูกเหมือนกัน

และอีกหลายร้อยประการที่จะกลายเป็นปัญหาซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เพียงเพราะปัญหาที่จุดเริ่มต้นนั่นคือ เราไม่รู้ว่าลูกค้าของเราจริงๆ คือใคร ไม่ผิดที่เราจะคาดหวังให้คนส่วนใหญ่ชอบสินค้าของเราเพราะนั่นหมายถึงยอดขายที่สูงขึ้น แต่ตอนที่เราไม่รู้ว่าสามารถทำยอดขายแรกได้จากลูกค้าคนไหน ตอนนั้นต่างหากที่เป็นจุดที่จะบอกได้ว่าเราจะยังอยู่ในตลาดได้อีกนานแค่ไหน

4.เลือกใช้กลยุทธ์ที่ไม่เหมาะสม

สืบเนื่องจากการไม่รู้จักลูกค้า การที่เราจะรู้ว่าเราควรใช้กลยุทธ์การตลาดแบบไหน หากต้องลองผิดลองถูกหรือทำซ้ำๆ จนกว่าจะเจอรูปแบบที่เหมาะสม อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนัก การแก้ปัญหานี้อาจทำได้โดยการตั้งทีมงานทางด้านการตลาดขึ้นมาโดยเฉพาะ

โดยกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้คอยดูทิศทางตลาดและกำหนดกลยุทธ์ในการทำการตลาดด้วยวิธีต่างๆ หรืออาจจะหาผู้เชี่ยวชาญการตลาดที่เคยมีประสบการณ์เฉพาะด้านเข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจของเราดู ซึ่งแม้จะต้องเสียงบประมาณการจ้างไปบ้าง แต่ในทางกลับกันผลตอบแทนที่กลับมาเป็นการทำงานที่มีกลยุทธ์เหมาะสมกับสภาพธุรกิจก็ทำให้วิธีนี้เป็นวิธีที่ดูคุ้มค่าทีเดียว

5.ไม่เชื่อมั่น เข้าไม่ถึง เทคโนโลยี

ในปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคอินเตอร์อย่างแท้จริง ทำให้คนส่วนมากสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์หรือแม้แต่อุปกรณ์เล็กๆ อย่างโทรศัพท์มือถือส่วนมากก็สามารถเข้าอินเตอร์เน็ตได้แล้ว คนจำนวนหนึ่งแทบจะใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์มากกว่าในชีวิตจริงเสียอีก

ทำให้อินเตอร์เน็ตและเว็บไซต์ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะใช้ช่วยทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างเว็บไซต์ให้กับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ที่เรามีนั้นถือเป็นการช่วยโปรโมทและทำให้คนทั่วไปรู้จักสินค้าของเราได้มากขึ้นโดยที่ใช้ทุนไม่มาก ซึ่งในปัจจุบันเรายังสามารถใช้ Social Media ที่มีมากมายอย่าง Facebook, Twitter หรือ Google Plus ที่เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงสังคมออนไลน์มาช่วยได้อีกด้วย

โดยเฉพาะ Facebook ที่ล่าสุดมีผลออกมาว่าประชากรไทยกว่า 88% ของผู้ที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มักมี Facebook เป็นของตัวเอง ซึ่งการสร้างการ Fan Page ของธุรกิจเราบน Facebook จะทำให้เราและลูกค้ามีช่องว่างระหว่างกันน้อยลง และเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ลูกค้าที่อยู่ในแวดวงของธุรกิจเรารู้จักเรามากขึ้นอีกด้วย