ศูนย์รวมแฟรนไชส์น่าลงทุน

6 วิธี ที่จะพาธุรกิจที่ทำอยู่ Go Inter เปิดตลาดต่างประเทศ


เชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ มีความฝันที่อยากจะพาธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ ซึ่งการทำธุรกิจระหว่างประเทศนั้นไม่ได้มีแค่เพียงการนำเข้าส่งออกเท่านั้น วันนี้ ชี้ช่องรวย จะมาบอกถึงการทำธุรกิจระหว่างประเทศว่ามีอะไรบ้าง

1. การส่งออก (Exporting)

วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ง่ายต่อการเริ่มต้น เพราะกระบวนการขั้นตอนน้อยไม่ยุ่งยาก ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เรามีนั้นจะต้องเป็นที่ยอมรับของตลาดภายในประเทศเสียก่อน และเมื่อมีผลผลิตที่เกินความต้องการของตลาดภายในประเทศแล้ว จึงเริ่มติดต่อส่งผลผลิตส่วนเกินนี้ออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ เปรียบเสมือนกับการขยายตลาดให้แก่กิจการของตนเอง ทำให้มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่จำหน่ายเฉพาะแต่ภายในประเทศ ส่งผลให้กิจการมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นต้น

2.การให้สิทธิการผลิต (Licensing)

การประกอบธุรกิจในต่างประเทศโดยที่กิจการในประเทศหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้สิทธิ (Licensor) อนุญาตให้กิจการในอีกประเทศหนึ่งเรียกว่า ผู้รับสิทธิ (Licensee) ในการผลิตสินค้าได้

3.การให้สิทธิทางการค้าหรือระบบแฟรนไชส์ (Franchising)

ระบบการทำธุรกิจโดยความร่วมมือกันระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ ผู้ให้สิทธิทางการค้า หรือแฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) เป็นเจ้าของสินค้าเครื่องหมายการค้าและระบบธุรกิจในต่างประเทศ ส่วนฝ่ายที่สองคือ ผู้รับสิทธิทางการค้าหรือแฟรนไชส์ (Franchisee) ทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งนำระบบธุรกิจของแฟรนไชส์ซอร์ไปปฏิบัติ

4.สัญญาเหมาะเบ็ดเสร็จ (Turnkey Projects)

เป็นสัญญาการลงทุนในโรงงานซึ่งรวมถึงการก่อสร้างโรงงาน การฝึกอบรมบุคลากรที่ใช้ในการดำเนินงานให้ทำการติดตั้งเครื่องจักรและการเดินเครื่องในระยะแรก เมื่อเสร็จเรียบร้อยพร้อมสำหรับการดำเนินงาน สุดท้ายจึงโอนมอบงานให้กับเจ้าของโครงการต่อไป

5.การลงทุนระหว่างประเทศ (Foreign Investment)

แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ หนึ่ง การลงทุนทางอ้อม (Portfolio Investment) เป็นการลงทุนที่หวังตอบแทนจากหลักทรัพย์และทางการเงิน และสอง การลงทุนทางตรง (Direct Investment) คือ การลงทุนที่ผู้ลงทุนต่างประเทศจะมีส่วนร่วมในการบริหารและการดำเนินกิจการด้วยเช่นกัน

6.การลงทุนโดยการร่วมทุน (Joint Venture)

เป็นการร่วมลงทุนของกิจการตั้งแต่ 2 กิจการขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นบริษัทเอกชนในต่างประเทศร่วมทุนกับบริษัทเอกชนในประเทศเจ้าบ้าน หรือบริษัทเอกชนที่อยู่ในประเทศเดียวกัน 2 บริษัท ร่วมทุนกันลงทุนต่างประเทศหรือบริษัทเอกชนในต่างประเทศร่วมทุนกับประเทศที่ 3 เป็นต้น