โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ธนาคารพาณิชย์ ประกาศพักชำระหนี้ 29 จังหวัด พื้นที่สีแดงเข้ม 2 เดือน

สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกประกาศพักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย ประชาชนในพื้นที่จ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม 2 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และหล่อเลี้ยงสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและลูกจ้าง

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า จากมติ ศบค. ปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 13 จังหวัด เพิ่มขึ้น 16 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยมีผลตั้งแต่วันนี้ (3 ส.ค.64) นั้น

ทั้งนี้ เพื่อชะลอและลดการแพร่การระบาดของโควิด -19 ธนาคารมีความจำเป็นต้องปิดการให้บริการของสาขาในบางพื้นที่เสี่ยงที่ใน 29 จังหวัด เป็นการชั่วคราว โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ธนาคารจะปิดสาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า สาขาในศูนย์การค้า และสาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.64 เป็นต้นไป

2. ลูกค้าสามารถใช้บริการที่สาขาทั่วไปที่เป็นสาขา Stand Alone ซึ่งเปิดให้บริการตามปกติ 5 วัน หรือ 7 วันทำการ ขึ้นกับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร แต่จะเปิดให้บริการไม่เกินเวลา 15.30 น.

3. สาขาใน 3 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เปิดให้บริการไม่เกินเวลา 15.00 น

4. สำหรับสาขาในห้างสรรพสินค้า สาขาในศูนย์การค้า หรือ สาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนอกเขตพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมอื่นๆ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แต่จะต้องเปิดให้บริการไม่เกิน 17.00 น.

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วน ลูกค้า ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ครอบคลุม 29 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยลูกค้าผู้ประกอบการสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือกับธนาคารเจ้าหนี้ ผ่านช่องทางต่างๆ ทาง Call Center Line@ Facebook Website และ Mobile Application ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 ส.ค.64

ทั้งนี้การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ควรจะชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแต่ละแห่งยังมีมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับลกค้าผู้ประกอบการในช่วงที่ยังไม่มีรายได้หรือรายได้ลดน้อยลงและช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการด้วย