เชื่อว่าหลายคนคงอยากจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ วันนี้ ชี้ช่องรวย จึงอยากจะมาแนะนำอีกหนึ่งงานอดิเรกที่สามารถสร้างผลผลิต และสร้างรายได้ด้วยการ “ปลูกผักออร์แกนิค” ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน บ้าน ทาวน์เฮ้าส์ / ทาวน์โฮม หรือแม้แต่คอนโด มีพื้นที่ว่าง ก็สามารถทำได้ มาดูกันว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นเรามารู้จักผักกันก่อนว่ามีกี่ประเภท รู้หรือไม่ว่าผักสลัดมีด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนโบว์ เรดโบว์ มิซูน่า เรดคอส กรีนคอส บัตเตอร์เฮด กรีนโครอล ผักกาดหอมแดง ผักกาดหอม เรดโครอล ร็อคเก็ต ไวล์ร็อคเก็ต
สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก
1. ดินที่เหมาะกับการปลูกผักสลัด คือ ดินร่วนซุย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีอินทรีย์วัตถุสูง หน้าดินลึก และอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง สภาพความเป็นกรด-ด่างของดินอยู่ระหว่าง 6-6.5
2. พื้นที่ปลูกควรโล่ง และได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่
3. เนื่องจากใบผักสลัดมีลักษณะบางจึงไม่ทนต่อฝน ดังนั้นในช่วงฤดูฝนควรปลูกใต้โรงเรือน
วิธีปลูกผักสลัดแบบง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง
1.ขั้นตอนการเตรียมดิน
การเตรียมดินที่ดีจะช่วยทำให้ผลผลิตดีตามไปด้วย โดยวิธีการให้เตรียมหน้าดินประมาณ 2 – 4 นิ้ว และใช้ใบไม้ ฟางคลุมหน้าดินและ รดน้ำและใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในการบำรุงดิน และคลุกเคล้าให้ทั่ว รดน้ำให้ชุ่ม ดยส่วนใหญ่การปลูกผักสลัดสามารถปลูกได้หลายแบบ ในกระถางเพาะกล้า หรือถุงดิน หรือแปลงใหญ่เลยก็ได้ โดยวิธีการเตรียมดินคือ นำดินร่วนมาผสมกับปุ๋ยคอก และขุยมะพร้าว ที่ผสมกันในอัตรา 1:1 จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทิ้งไว้ในที่ร่มเป็นเวลา 7 วัน
2.นำกล้าผักหรือเมล็ดพันธุ์ผักที่เตรียมไว้ลงดิน
โดยวิธีการเลือกเมล็ดพันธุ์หรือต้นกล้า ต้องเลือกที่มีความแข็งแรง ไม่หมดอายุ เทคนิคของการใช้เมล็ดพันธุ์ในการปลูกคือ ก่อนการเพาะควรตรวจสอบเมล็ดพันธุ์ก่อน ด้วยการนำเมล็ดพันธุ์ไปโรยใส่ทิชชู่เปียก หลังจากนั้นให้นำทิชชู่เปียกมาโรยทับอีกที ทิ้งไว้ 3– 4 วันถ้าเมล็ดงอกออกมาแปลว่ามีความสมบูรณ์ดี เมล็ดไม่ฝ่อ ใช้ปลูกได้ ฝังเมล็ด 1-2 เมล็ด ลงในดินลึกประมาณ 4 นิ้ว กลบดินทับบาง ๆ รดน้ำพอให้ชุ่มแต่ระวังอย่างให้แฉะจนเกินไป
3.การดูแล
การดูแลผักเพื่อให้เจริญเติบโตเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ ควรให้ความสำคัญกับการรดน้ำให้เหมาะสม สำหรับผักแต่ละชนิด รวมทั้งดูแลเรื่องแสงแดดและแมลงที่จะมารบกวน การรดน้ำควรรดที่หน้าดินดีกว่าการรดที่ใบ อีกทั้งควรหมั่นถอนวัชพืชด้วยมือ และหมั่นรดน้ำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การไล่แมลงอาจจะเลือกใช้วิธีธรรมชาติ เช่น การปล่อยกบ คางคก จิ้งจก เพื่อมาคอยจับแมลง ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการดูแลหรือป้องกันแมลงที่แตกต่างกันออกไป
4.การเก็บเกี่ยวผลผลิต
ควรหมั่นตรวจสอบระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิดให้ดี อย่าปล่อยให้ร่วงคาต้น และควรเก็บเป็นช่วงเวลา เช่น โหระพาให้เก็บช่วงบ่าย เพราะช่วงนั้นใบจะสดน่ากิน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากเพาะเมล็ด ภายใน 40-45 วัน
5.การเตรียมปลูกครั้งใหม่
การโละสวนคือการฟื้นฟูสภาพดินเพื่อปลูกพืชครั้งต่อไปเมื่อหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว หรือต้นไม้หมดอายุแห้งเหี่ยว ได้แก่ การถอนต้นพืชออกให้หมด แล้วฝังกลบ แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมดินกันอีกครั้ง
นี่ก็เป็นขั้นตอนและเทคนิคง่ายที่เราสามารถทำเองได้ ซึ่งผลผลิตจะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการใส่ใจดูและ รวมไปถึงปัจจัยเรื่องสภาพแวดลอมต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าอย่างน้อยการได้ลงมือย่อมได้ผลผลิตออกมาอย่างแน่นอน